แนวคิดบริหารเพื่อชุมชน

“สุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ” “ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2” คนใหม่

64 40

เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกปีในเดือนตุลาคมหลังมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน ซึ่งกลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ในการปรับรูปแบบวิธีการบริหารและการทำงานของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย เช่นเดียวกับ“อู้จ๋า” ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จัก “นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ” ผู้บริหารท่านใหม่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเข้ารับตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 (ชฟฟ2.) เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการหวนคืนสู่ “อ.แม่เมาะ” อีกครั้ง เพราะ ชฟฟ2. ท่านใหม่นี้เคยทำงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เมื่อปี 2534-2541 ในแผนกโรงงาน และแผนกวางแผน 1 ดูแลโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1-3

การกลับมาทำงานที่ กฟผ.แม่เมาะ อีกครั้งในบทบาทใหม่ นายสุทธิพงษ์พร้อมนำความรู้ ความสามารถเพื่อพัฒนา กฟผ.แม่เมาะ และชุมชน อ.แม่เมาะให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนจากประสบการณ์ในการทำงานทั้งโรงไฟฟ้าเอกชน อาทิ โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าราชบุรีพาวเวอร์ โรงไฟฟ้าวังน้อย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วมมากกว่า 19 ปี และทำงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราว 10 ปี รวมถึงเคยผ่านการทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของ กฟผ. ทั้งประเทศเมื่อปี 2564 ในตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน สำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

นายสุทธิพงษ์พูดถึงแนวคิดบริหารเพื่อชุมชน อ.แม่เมาะว่า “งาน CSR เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่อย่าง กฟผ.แม่เมาะ ต้องดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบ การดูแลนอกจากดำเนินงานให้มีผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุดแล้ว ต้องไปพบปะพูดคุย ไปเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องกับชุมชน เน้นรับฟังว่าอยากทำอะไร มีความรู้ด้านไหน ทำอะไรอยู่แล้วเราก็เข้าไปส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ชุมชนต้องการเท่าที่ช่วยได้ ซึ่งการได้รับทราบข้อมูลแท้จริงก็จะช่วยเหลือชุมชนได้ถูกต้อง”

สำหรับเป้าหมายหรือโครงการสำคัญต่อชุมชน อ.แม่เมาะ ที่อยากขับเคลื่อนให้สำเร็จในช่วงการดำรงตำแหน่งคือการสานต่อโครงการ “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” (Mae Moh Smart City) ที่มุ่งเน้นความร่วมมือ ระหว่าง กฟผ. ชุมชน อ.แม่เมาะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พัฒนาและส่งเสริมชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ตลอดจนมีการพัฒนาด้านพลังงาน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ภายหลังจากการปิดเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะในปี พ.ศ. 2594 โดยดำเนินการผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

“โรงไฟฟ้าแม่เมาะจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรองรับโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ที่ผ่านมาดำเนินการโครงการเยอะมากและเป็นโครงการที่ดีเพื่อชุมชน ไม่ว่าเป็นการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นต้นแบบอาคารประหยัดพลังงาน การทำเกษตรแนวตั้งเพื่อก่อเกิดอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชม อ.แม่เมาะ โครงการโคกหนองนาโมเดลเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีตามศาสตร์พระราชา”

ก่อนจบการ “อู้จ๋า” นายสุทธิพงษ์ ชฟฟ2.  ฝากถึงชุมชน อ.แม่เมาะ ด้วยความห่วงใย และยืนหยัดบริหารงานตามเจตนารมณ์ “กฟผ.แม่เมาะ” ให้ชุมชนและ กฟผ.แม่เมาะ เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

“เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแลชุมชนโดยรอบเป็นการตอบแทน เพราะ กฟผ.แม่เมาะ ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ฝากถึงชุมชน มั่นใจและสบายใจได้ กฟผ.แม่เมาะ ปฏิบัติตามกฎหมาย 100% สิ่งที่ปล่อยออกจากปล่องโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะน้ำหรือมลสาร ล้วนถูกต้องตามกฎหมายควบคุม และทำดีกว่าที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย สามารถเข้าตรวจสอบการดำเนินงานของเราได้ทุกเวลา”

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย