ไฟตก ไฟดับ พื้นที่อำเภอแม่เมาะ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคลายสงสัย ด้านระบบจำหน่ายอยู่ระหว่างปรับปรุงให้ดีขึ้น

ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ สร้างความหงุดหงิด รำคาญใจ ตลอดจนส่งผลให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งแท้จริงแล้วในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้มีการแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อู้จ๋าฉบับนี้ จะพาท่านไปพูดคุยกับคุณนิพูล ตุ้ยเครือ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอแม่เมาะ เพื่อนบ้านใกล้ชิดของ กฟผ.ที่ เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพี่น้องชาวแม่เมาะทั้งอำเภอ

PR2 7579

นายนิพูล ตุ้ยเครือ อายุ 55 ปี เป็นผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอแม่เมาะ จบ ปวส.จากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง ปริญญาตรีบริหารธุรกิจบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เริ่มทำงานที่ กฟภ.สาขาแม่ทะ ตั้งแต่ปี 2533 โดยทำอยู่ 27 ปี จากนั้นย้ายไปทำที่สาขาห้างฉัตร และสาขาเกาะคา อย่างละ 1 ปี และย้ายมาทำอยู่ที่สาขาย่อยแม่เมาะโดยดำรงตำแหน่งมาแล้ว 3 ปี

ภารกิจของ กฟภ.สาขาย่อยอำเภอแม่เมาะ

หน้าที่หลักก็จะเป็น งานบริการลูกค้า งานติดตั้งมิเตอร์ งานแก้ไขกระแสไฟฟ้าขัดข้อง งานซ่อมแซมระบบจำหน่ายและบำรุงรักษา และงานธุรการ ทั้งนี้หน่วยงานรับผิดชอบจ่ายกระไสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟ 14,508 ราย ใน 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน แยกเป็นระยะทางแรงสูง 267 วงจร – กม. แรงต่ำ 478 วงจร-กม. โดยมีพนักงาน 5 คน และ ลูกจ้าง 8 คน

ไฟฟ้าอาจขัดข้องบ่อย แต่คนซ่อมไม่ได้นิ่งนอนใจ

อำเภอแม่เมาะ มีระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า 5 วงจร โดยวงจรที่ยาวที่สุดคือวงจรที่ 3 จ่ายไฟตั้งแต่สำนักงาน กฟภ.สาขาย่อยแม่เมาะ ไปจนถึงเขตติดต่อบ้านแม่ตีบ อำเภองาว ระยะทาง 73 วงจร-กม. หากมีกระแสไฟฟ้าขัดข้องบริเวณบ้านทาน บ้านวังตม หรือบ้านชำขอน จะต้องใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมงจึงจะแก้ไขระบบไฟฟ้าได้ และอีก 1 จุดคือ วงจรที่ 5 ที่รับกระแสไฟฟ้าจาก กฟภ.ตำบลพิชัย – บ้านเสด็จ ตั้งแต่ช่อง 7 ยาวไปถึงบ้านแม่ส้านที่เป็นพื้นที่เขาสูง หากเกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้องเจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางนานเช่นกันกว่าจะเข้าถึงพื้นที่ ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับครัวเรือน(ค่าใช้จ่าย 75,000 บาท/ครัวเรือน) และส่งเสริมงานขยายเขตระบบจำหน่ายด้านการเกษตร (ค่าใข้จ่าย 80,000 บาท/แปลงที่ดิน) ให้กับราษฎรในอำเภอแม่เมาะ ที่มีเอกสารทางราชการถูกต้อง ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่คิดเงินตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย

เสริมระบบไฟฟ้าในเขต ต.นาสัก และ ต.จางเหนือ

จากเหตุการณ์พายุลูกเห็บพัดถล่มในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ และตำบลนาสักเมื่อปลายปี 2562 ทำให้ระบบไฟฟ้าตั้งแต่ตำบลนาสัก ตำบลจางเหนือ ใช้งานไม่ได้เนื่องจากมีแหล่งจ่ายไฟเพียงแห่งเดียว ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 4,000 รายไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง กฟภ.สาขาย่อยอำเภอแม่เมาะได้หารือกับผู้บริหารท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในพื้นที่ จึงเห็นชอบในการขอเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากบ้านงิ้วงาม ต.แม่ตีบ อ.งาว โดยได้ขอนุญาตขยายเขตเชื่อมโยงระบบจำหน่ายจาก กฟภ.อำเภองาว เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้ง 2 ตำบล ในอำเภอแม่เมาะ ปัจจุบันดำเนินการเชื่อมโยงระบบจำหน่ายดังกล่าวระยะทาง 9 วงจร-กม. แล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว

เปลี่ยนเป็นสายหุ้มฉนวนเพื่อแก้ไขปัญหาไฟตกไฟดับในพื้นที่

ปัญหาไฟตก ไฟดับ ในพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดจากต้นไม้สองข้างทางเมื่อเกิดพายุลมแรงก็จะทำให้ลัดวงจร เกิดไฟดับเป็นวงกว้างในพื้นที่ ซึ่ง อ.แม่เมาะ เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ บ่อยครั้งที่ผู้ใช้ไฟฟ้ามองไปถึงประสิทธิภาพการจ่ายไฟ ซึ่งต้องแจ้งว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการขอเปลี่ยนระบบจำหน่ายสายเปลือยเป็นสายหุ้มฉนวนตั้งแต่แยกอ่างเก็บน้ำบ้านหางฮุง จนถึงปลายสายที่บ้านวังตม ระยะทาง 63 วงจร – กม. รวมไปถึงสถานที่ราชการ อาทิ ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ สถานีตำรวจ เทศบาล โรงพยาบาล รวมไปถึงพื้นที่โดยรอบ อีกระยะทาง 9 วงจร- กม.ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565 นี้ นอกจากนี้ยังเร่งปรับปรุงระบบจำหน่ายให้ครบทุกตำบลในปี 2566 และคาดหวังว่าอนาคตระบบไฟฟ้าของแม่เมาะ จะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

การปรับปรุงระบบไฟฟ้าของ กฟภ.สาขาย่อยอำเภอแม่เมาะ มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ซึ่งในอนาคตระบบจำหน่ายของ กฟภ.สาขาย่อยอำเภอแม่เมาะจะมีการรองรับแผนการดำเนินงานที่เชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าตามแผนงานโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (MaeMoh Smart City) ด้านพลังงานอัฉจริยะ (Smart Energy)

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย