Print

 R2 6583

          ในงานอพยพราษฎร 4 หมู่บ้าน ต.บ้านดง เราจะพบข้าราชการหนุ่มผู้มีอัธยาศัยดี รูปร่างสันทัด สวมแว่นตา ทำหน้าที่ประสานงานและร่วมเป็นคณะอนุกรรมการอพยพในหลายคณะ ทั้งงานประจำในฐานะปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบตำบลบ้านดงและงานพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ ทำให้ปลัดหนุ่มผู้นี้มีความน่าสนใจ อู๋จ๋า ฉบับนี้จะนำท่านไปติดตามแนวคิดการทำงานของข้าราชการหนุ่มรุ่นใหม่ ที่ชื่อว่า อรรถวิท ขุนทอง หรือ ป.เข้ม

แนะนำตัว

ปัจจุบันอายุ 31 ปี พื้นเพเป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเรียนด้านการเมืองการปกครองในระดับปริญญาตรีและรัฐประศาสนศาสตร์การบริหารองค์กรภาครัฐในระดับปริญญาโท และเริ่มรับราชการครั้งแรกที่อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ตำแหน่งปลัดอำเภอในวัย 26 ปี

เรียนรู้และรับฟังจากผู้มีประสบการณ์ ให้เกียรติทุกคน

ปลายปี 2560 ย้ายมารับตำแหน่งปลัดอำเภอแม่เมาะ รับผิดชอบดูแลงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ แม่เมาะ รวมเวลาประจำอยู่อำเภอแม่เมาะประมาณ 5 ปี งานของปลัดอำเภอคือ เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ มีงานหลักๆ อยู่ 3 หน้าที่ คือ 1.งานในอำนาจหน้าที่ของกรมการปกครอง อาทิ งานทะเบียนและบัตร งานความมั่นคง งานปกครองท้องที่ งานอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนที่มาร้องทุกข์ ซึ่งปัจจุบันรู้จักในชื่อของศูนย์ดำรงธรรม 2.งานนโยบายตามสถานการณ์ 3.งานเฉพาะพื้นที่ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ในอำเภอแม่เมาะ จะมีปลัดอำเภอประจำแต่ละตำบลเพื่อดูแลรับผิดชอบพื้นที่ คอยประสานงานระหว่างหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นกับอำเภอและจังหวัด ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดูแลพื้นที่ตำบลบ้านดง แม้ตนรับราชการตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ด้วยหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายจึงต้องชัดเจนและเด็ดขาด ส่วนตัวแล้วเคารพและให้เกียรติกับทุกท่าน ทุกหน่วยงาน เราต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้อาวุโสและพร้อมเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ โดยไม่ยึดถือกับตำแหน่งมากนัก แต่ในการทำงานนั้นจะยอมหมดทุกอย่างก็ไม่ได้เพราะเรามีหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ส่วนตัวได้นำเอาประสบการณ์ที่เคยทำงานกับบริษัทเอกชนก่อนมารับราชการมาปรับใช้ เพื่อลดขั้นตอน ลดเวลา ลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น และมีการสื่อสารสองทางระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้แก้ไขปัญหาและทำให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น ซึ่งอยากให้ทุกคนเป็นทีมงานเดียวกันมีการพูดคุยสื่อสารกัน ถ้าทำงานกับผมหรือในส่วนที่ผมรับผิดชอบก็อยากให้เป็นบรรยากาศแบบเพื่อน พี่ น้อง

กฟผ.แม่เมาะ เป็นหน่วยงานที่ชุมชนพึ่งพาได้และนึกถึงเป็นอันดับแรก

ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ กฟผ.แม่เมาะ จากสื่อทั่วไป และจากการเล่าสู่กันฟังโดยตลอดว่าแม่เมาะเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบจาก กฟผ.หลายด้าน เคยปักใจเชื่อตามที่มีการนำเสนอ แต่เมื่อมาสัมผัสจากการทำงานร่วมกันก็ทำให้ทราบว่า กฟผ. มีมาตรการควบคุมผลกระทบจากการทำงานที่เคร่งครัดตามระเบียบกฎหมาย และมีการดูแลชุมชนผ่าน โครงการ CSR โดยส่วนตัวมองว่า กฟผ.ทำหน้าที่ได้ดีเกินคาด เห็นได้จากเมื่อมีปัญหาหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอำเภอ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือภัยอื่นๆ เช่น โรคระบาดโควิด 19 หน่วยงานที่ชุมชนเรียกหาเป็นที่พึ่งอันดับแรก คือหน่วยงาน กฟผ.แม่เมาะ ซึ่งแม้ว่าภารกิจหลักของ กฟผ. คือการผลิตไฟฟ้า และ CSR เป็นภารกิจรอง แต่ภาพที่ กฟผ.แม่เมาะ ดูแลคนในชุมชนสะท้อนการเป็นหน่วยงานที่พึ่งพาได้มีศักยภาพ ทั้งด้านงบประมาณ เครื่องจักร และบุคลากร ประกอบกับมีหน่วยงานด้านชุมชนสัมพันธ์ที่คอยประสานงานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ปัญหาหลายอย่างในพื้นที่ มีกลไกการแก้ไขโดยหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว แต่การเข้ามาช่วยเสริมของ กฟผ.แม่เมาะ ทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

งานอพยพราษฎรตำบลบ้านดง

งานอพยพราษฎรในอำเภอแม่เมาะมีมาแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเงื่อนไขข้อกำหนดด้านกฎหมายหรือระเบียบที่แตกต่างกันไปตามความวัตถุประสงค์ของ การอยพ ซึ่งในการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน (ครั้งที่ 7) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 15 ตุลาคม 2556 จะดำเนินการโดยส่วนราชการ มีคณะกรรมการอำนวยการอพยพในระดับกระทรวงเป็นผู้กำกับดูแล และมีคณะกรรมการดำเนินการอพยพ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีกรรมการในระดับพื้นที่ ซึ่งคณะทำงานในระดับพื้นที่จะมีตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมเกือบทุกคณะ อาทิ คณะกรรมการสำรวจ คณะกรรมการจัดสรรที่ดิน คณะกรรมการกลั่นกรองราคา คณะกรรมการจัดราษฎรเข้าอาศัยในพื้นที่จัดสรร ฯลฯ ทำให้ตนเองมีความเข้าใจภาพรวมการดำเนินงาน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินงานที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านให้ได้เร็วที่สุด งานอพยพราษฎรบ้านดงเป็นงานเชิงพื้นที่มีความท้าทาย ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ ปรับตัวและแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะส่วนตัวจะเข้ามาทำงานอพยพไม่นาน แต่ก็โชคดีที่มีทีมงานสนับสนุนเสมอไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับบัญชา ผู้นำชุมชน หรือแม้แต่ทีมงานอพยพของ กฟผ.แม่เมาะ ที่คอยสนับสนุนข้อมูล ชี้แนะและประสานงานกันอยู่ตลอดเวลา มีปัญหาก็หารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน สิ่งที่ตนกังวลกับงานอพยพบ้านดง คือ องค์ความรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่บุคคล หาผู้ที่เข้าใจในกระบวนการทั้งหมดได้ยาก ประกอบกับด้วยระบบราชการที่มีการโยกย้ายอาจทำให้งานอพยพขาดความต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินงานล่าช้า การถอดบทเรียนและจัดการความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้ที่มาทำงานต่อสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่ติดขัด

สะท้อนปัญหาอพยพบ้านดงจากความกังวล พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่

อพยพครั้งนี้เป็นการดำเนินงานของส่วนราชการเป็นหลัก ที่ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ในเรื่องของอำนาจหน้าที่และข้อกฎหมาย เพราะกรรมการแต่ละชุดมีขอบเขตความรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ของตนเอง ทำให้เรื่องบางเรื่องไม่สามารถตัดสินใจเด็ดขาดได้ ต้องมีการศึกษาในข้อกฎหมาย ทำให้มติต่างๆ ของกรรมการไม่สามารถจบในที่ประชุมได้ ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีหลักฐานอ้างอิง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากเช่นกันเพราะไม่ใช่งานในอำนาจหน้าที่ปกติ ทำให้ในช่วงแรกงานเดินหน้าไปด้วยความล่าช้า อย่างไรก็ตามเจตนารมณ์ของคณะทำงานทุกคณะมีความตั้งใจอยากให้งานอพยพสำเร็จลุล่วง รวดเร็ว ทั้งนี้ในส่วนที่สามารถลดขั้นตอนการทำงาน ลดเวลาก็จะดำเนินการได้ทันที ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมาย สิ่งสำคัญสำหรับผู้อพยพที่ทางคณะกรรมการฯ และ กฟผ.แม่เมาะ ให้ความใส่ใจ คือการใช้ชีวิตหลังจากได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่แล้ว ซึ่งในขั้นต้นได้เตรียมการส่งเสริมอาชีพตามแผนงานโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ไว้แล้ว สำหรับการจ่ายค่าชดเชยการในรายที่ข้อมูลครบถ้วน มีความตั้งใจจะทำให้เสร็จในปีนี้ ส่วนกรณีอื่นๆ จะดำเนินการให้เสร็จเร็วที่สุด จึงอยากให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจในการดำเนินงานว่าเราได้มุ่งมั่นตั้งใจเพื่อดำเนินการให้สิ่งต่างๆ ลุล่วงสำเร็จโดยเร็ว