Print

จากคนขับรถยักษ์สู่นายกฯเล็กคนใหม่ ขวัญใจชาวจางเหนือ

สมคิด วงศ์ปัน

PR2  4232

4 เดือนก่อน ชาวจางเหนือได้นายกเล็กหน้าใหม่ ที่รับอาสาเข้ามาดูแลทุกข์สุขชุมชน แม้จะมาจากต่างถิ่น แต่ก็อยู่นานจนกลายเป็นคนจางเหนือไปแล้ว วันนี้เราจึงขอจับเข่าอู้จ๋าถึงชีวิตส่วนตัว เส้นทางสู่การเมืองท้องถิ่น พร้อมสอบถามความคืบหน้าโครงการพัฒนาตำบล และเหตุผลที่คนจางเหนือเลือกฝากบ้านเมืองไว้ให้ดูแล

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจางเหนือคนใหม่

สมคิด วงศ์ปัน อายุ 54 ปี เดิมเป็นคนบ้านเสด็จ แต่ย้ายมาเป็นเขยนาแช่เมื่อ 24 ปีที่แล้ว มีลูกทั้งหมด 3 คน ช่วงต้นชีวิตยากลำบาก รับจ้างเป็นคนขับรถทำถนน กระทั่งได้เริ่มต้นการทำงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่ สปป.ลาว ขับเครื่องจักรหนัก ต่อมาย้ายไปทำงานไซต์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแอฟริกาใต้ และสุดท้ายที่โมซัมบิก รับหน้าที่เป็นผู้สอนขับรถจักรขนาดใหญ่ให้กับคนท้องถิ่น รายได้เพียงพอจะส่งกลับมาเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างดี ก่อนจะตัดสินใจกลับแม่เมาะเมื่อ 5 ปีก่อน

จากคนขับรถยักษ์สู่นายกฯเล็ก

เพราะพอมีความรู้เรื่องศาสนพิธี งาน 5 ปีที่ผ่านมาจึงได้เข้าร่วมกิจกรรมและช่วยเหลือชุมชนทั้ง 7 หมู่บ้านเสมอ จนได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า “ไปทุกศพ พบทุกงาน” เรียกว่าหากบ้านใดมีงาน ตนจะไปถึงเป็นคนแรก และด้วยความที่นายกฯสมคิดปรับตัวเร็ว ทำงานดีมีคุณภาพ จริงจัง ไม่เคยอู้งาน ชุมชนมองเห็นว่าที่ผ่านมามีความซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่ยุ่งเรื่องเงินทอง ติดดิน จึงไว้ใจและแนะนำให้ลงสมัครการเมืองท้องถิ่น จนได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจางเหนือเป็นสมัยแรก

ผลงานแรก

สิ่งแรกที่ทำหลังเข้ารับตำแหน่งคือการปรับระบบจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบเดิมทำให้เจ้าหน้าที่เสียเวลาเป็นวันในการจ่ายเบี้ย อีกทั้งอาจทำให้เกิดปัญหาการเกิดฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ระหว่างขนย้ายเงิน นายกฯจึงได้ติดต่อให้ธนาคารเปิดตู้ ATM บริเวณทางเข้า อบต. อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุบางส่วนที่ประสงค์จะรับเบี้ยผ่านระบบธนาคารด้วยตนเอง ลดความเสี่ยงในการขนย้ายเงิน เพิ่มความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ แก้ปัญหาเงินสูญหาย และลดระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยด้วย

เชื่อมโยงเส้นทางจางเหนือ

ตำบลจางเหนือติดพื้นที่ป่า สร้างถนนไม่ได้ ทำให้ขาดเส้นทางเชื่อมต่อกับอำเภอหรือพื้นที่ภายนอก นายกฯสมคิดจึงได้ทำเรื่องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางผ่านทางหลวงชนบท ขออนุญาตให้พื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ในการดูแลภายใต้ อบต.จางเหนือ จนวันนี้ได้พัฒนาถนนท้องถิ่นแล้ว 11 สาย เพื่อเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน เช่น เส้นทางไปบ้านหาด เส้นทางวังตม-งิ้วงาม อ.งาว อย่างไรก็ตาม งบสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ โครงการเหล่านี้เกินกำลัง อบต.จะทำได้ จึงได้ประสานขอความอนุเคราะห์จาก อบจ. และขอการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อนาคต หากเส้นทางคมนาคมภายในตำบลได้รับการเชื่อมต่อ จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวของจางเหนือได้มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อครั้งหาเสียง นายกฯได้กล่าวไว้ว่าอยากพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในตำบล อย่างดอยสะโตง ดอยจู้ ดอยพระบาท วัดชำขอน รวมถึงน้ำตกบ้านวังตม หากเส้นทางวังตม-งิ้วงามแล้วเสร็จ ก็จะนำไปสู่ถ้ำแต้ว ซึ่งเป็นถ้ำธรรมชาติที่สวยงาม ภายในมีหินงอกหินย้อย ช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวไปด้วย

โครงการปัจจุบัน

นอกจากการพัฒนาเส้นทาง ปัจจุบันได้สร้างสิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคจากเงินกองทุนฯที่ได้รับมา ได้แก่ โดมที่ทำการบ้านกอรวก ฌาปนสถานบ้านนาสันติราษฎร์ คลองส่งน้ำบ้านนาสันติราษฎร์ (ที่ส่งน้ำล้นมาจากห้วยแม่แป้นเพื่อกระจายน้ำสู่ที่นาชุมชน) ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ระบบประปาหมู่บ้านกอรวกและบ้านนาสันติราษฎร์

จางเหนือแหล่งปลูกข้าวโพด

สมัยก่อนชุมชนรับจ้างทั่วไป หาของป่าขาย ทำนา ตัดไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ กระทั่งบ้านนาแช่เริ่มปลูกข้าวโพด และมีคนเข้ามาซื้อ ปัจจุบันชาวบ้านจางเหนือเกือบ 90% จึงปลูกไร่ข้าวโพด แต่ละเจ้าปลูก 5-10 ไร่ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ตนมี ระยะปลูกนาน 3-4 เดือน/ปี ขายได้กิโลกรัมละ 4-5 บาท อย่างไรก็ตาม นายกฯมองว่าการปลูกข้าวโพดนั้นมีต้นทุนแฝงมากมาย ทั้งค่าปุ๋ย ค่าเครื่องจักร ค่าแรง ค่าเมล็ดพันธุ์ และใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อเพิ่มผลผลิต อีกทั้งระบบสหกรณ์ยังไม่เข้มแข็ง ต่อรองราคากับผู้รับซื้อไม่ได้ หลังจากนี้จะส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนหันมาปลูกไม้ยืนต้น อย่างกล้าไผ่ซาง เชื่อว่ารายได้ดี เพราะมีตลาดรับซื้อ ปัจจุบันมีชุมชนบ้านหาดเป็นแหล่งเพาะกล้า นายกฯตั้งใจไว้ว่าจะเสนอโครงการซื้อกล้าไผ่ซางจากกองทุนฯในปีหน้า เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้นำไปปลูก

ปัญหาน้ำและสุขภาพชุมชน

จางเหนือเป็นต้นน้ำ แต่กลับไม่ค่อยมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง นายกฯวางแผนระยะยาวไว้ว่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้รองรับน้ำฝน อย่างไรก็ตามเร็วๆนี้จะมีการสร้างอ่างแม่จางตอนขุนในพระราชดำริ ซึ่งกรมชลประทานได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างแล้ว ด้านสุขภาพชุมชน นายกฯอยากได้รับการสนับสนุนด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนมากชุมชนทำเกษตรและได้รับสารพิษจากปุ๋ยและเคมีเข้าสู่ร่างกาย หากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาลง ก็อยากให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ กฟผ.แม่เมาะ ออกบริการชุมชนดังเดิม

ทิ้งท้าย

อำเภอของเรามีงบประมาณสนับสนุนมากกว่าที่อื่น แต่การพัฒนายังเข้าไม่ถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง ในขณะที่โลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว นายกฯก็ฝันอยากเห็นชุมชนเปลี่ยนแปลงความคิดเช่นกัน เพราะเราอยู่กับที่ไม่ได้ สิ่งแรกคืออยากให้ชุมชนเปลี่ยนอาชีพ แม้จะเป็นอาชีพที่ได้เงินไม่มาก แต่ขอให้ได้เงินทุกวัน อยากให้พวกเราเจริญยิ่งกว่านี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กรุ่นลูกรุ่นหลังต่อไป