Print

อู้จ๋ากับนายกฯเล็ก ผู้ที่เอาชนะใจคนบ้านดงมาได้ตลอด 13 ปี

ศุกร์ ไทยธนสุกานต์

PR2 3451กว่า 13 ปี ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง ศุกร์ ไทยธนสุกานต์ ไม่เคยแพ้การเลือกตั้ง ไม่เคยเสียเก้าอี้ให้กับผู้ท้าชิงท่านใด และไม่เคยเว้นวรรคทางการเมืองตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งมา วาระหน้าหากได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัย จะถือเป็นนายก อบต. คนแรกของประเทศไทยที่เกษียณอายุเหมือนกับข้าราชการ อู้จ๋าฉบับนี้ เราจึงชวนค้นหาที่มาของการเป็นนายกฯ ที่ชาวบ้านดงต่างมอบความไว้เนื้อเชื่อใจให้ดูแลสารทุกข์สุกดิบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

จุดเริ่มต้นสู่การเมืองท้องถิ่น

นายกฯ เป็นคนบ้านดงแต่กำเนิด เรียนจบด้านศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพายัพ ภายหลังจากเป็นผู้เผยแพร่พระเกียรติคุณรับใช้คริสตจักรอยู่ระยะหนึ่ง ก็ได้กลับมาทำธุรกิจส่วนตัวในชุมชนบ้านหมู่ 4 กระทั่งชุมชนบ้านดงได้ยกฐานะเป็น อบต. ครั้งแรกเมื่อปี 2542 จึงมีคนในชุมชนเสนอให้ลงสมัครสมาชิก อบต. จนชนะการเลือกตั้งให้เข้าไปทำหน้าที่ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 19 คนในสมัยนั้น ผลงานที่ภาคภูมิใจคือการผลักดันให้บ้านดงเป็นตำบลแรกที่ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและผู้พิการ จากกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร อ.แม่เมาะ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ กฟผ.แม่เมาะ สนับสนุนอยู่

บทบาทในฐานะนายกฯ อบต.

เมื่อปี 2552 หลังอยู่ในสายนิติบัญญัตินาน 12 ปี ก็ได้ลงสมัครและชนะการเลือกตั้งนายก อบต. สมัยแรก ผลงานที่ทำคือการปฏิรูป อบต. สร้างระบบให้เจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อให้บริการประชาชนอย่างแท้จริง ขยายเขตไฟฟ้าบ้านกลาง แม่ส้าน ร่วมผลักดันจนได้รับงบประมาณพัฒนาตำบล 20 ล้านบาทเข้ามาในปี 2553 ปัจจุบัน แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้นายกฯ ไม่ได้ใกล้ชิดกับชุมชนเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็มีผลงานเชิงประจักษ์ให้ได้เห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจัดหาแหล่งน้ำและประปา จัดระบบคลองส่งน้ำที่สามารถนำน้ำจากอ่างห้วยหลวงมาเสริมยังหนองคอแดงให้ชุมชนทำเกษตรกรรม จัดหารถดับเพลิงและรถเก็บขยะ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากงบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และอีกส่วนที่ยังคงดำเนินการอยู่คืองานอพยพและค่าภาคหลวงแร่

ปัญหาอุปสรรคของบ้านดง

บ้านดงเป็นตำบลที่เต็มไปด้วยความซ้ำซ้อน อย่างแรกคือความซ้ำซ้อนของงบประมาณ ทั้งเงินจากกองทุนฯ เงินสนับสนุนจาก กฟผ.แม่เมาะ และเงินจาก อบต. แม้จะมีเงินจำนวนมากในพื้นที่ แต่ชุมชนกลับใช้งบไปกับการอบรมศึกษาดูงาน จัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งไม่เกิดการต่อยอด เป็นการใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่าและไม่ยั่งยืน ตนมองว่าตำบลบ้านดงจะมีความยั่งยืนและเข้มแข็งยิ่งขึ้นได้นั้น ต่อเมื่อเราได้ค่าภาคหลวงแร่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเราจะสามารถเปิดอัตรากำลังได้ เปิดสาธารณสุขได้ เราจะมีงานเพื่อรองรับลูกหลานของเราได้มากขึ้น ต่อมาความทับซ้อนของพื้นที่ ทั้งพื้นที่สงวนสำหรับการทำเหมืองแม่เมาะ พื้นที่ของทหารค่ายฝึกการรบพิเศษประตูผา พื้นที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และเขตอุทยาน แม้ชาวบ้านจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ แต่การบริหารจัดการพื้นที่ของ อบต. นั้นไม่เกิดเอกภาพ และสุดท้ายความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับงบประมาณ งบประมาณหลักของตำบลบ้านดงมาจาก กฟผ.แม่เมาะ อย่างไรก็ตาม ในอดีตมีงบประมาณที่ กฟผ. ให้ผ่านหน่วยงาน อย่างศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานแม่เมาะ (PDA) และสมาคมพัฒนาแม่เมาะ (สพม.) ชุมชนจึงสับสนว่าแท้จริงแล้วงบมาจากหน่วยงานใด ส่งผลให้เกิดความกังวลในการบริหารงานของ อบต. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ผู้ดูแลสารทุกข์สุกดิบของชุมชน

ภาพของตำบลบ้านดงในแม่เมาะเมืองน่าอยู่

นายกฯ เสนอให้ฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองและที่ทิ้งดินที่เลิกใช้แล้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ตำบลบ้านดงเป็นเมืองหน้าด่านของอำเภอ มีแผนในการสร้าง Sky walk ในพื้นที่บ้านอพยพต้นแบบ และสร้างสะพานท่องเที่ยวท่าสีเลียบเส้นทางไปยังดอยผาก้าน อีกทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งอุปโภคบริโภค ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน กลายเป็นหมู่บ้านที่น่าเที่ยวน่าคิดถึง คิดว่าชุมชนบ้านดง 4-5,000 คน สามารถอยู่ได้ พื้นที่บ้านดงจะกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีในอนาคต อย่างไรก็ตาม อยากให้ กฟผ. รักษามาตรฐานและยกระดับการดูแลชุมชนยิ่งขึ้นอีก ด้านชุมชน อยากให้ผู้นำชุมชนยกระดับตนเอง ทั้งการเจรจา การประสานงาน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทุกระดับในชุมชนให้แน่นแฟ้น เพื่อให้ศักยภาพของพวกเราพัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิม