Print

ชวนสร้างเมืองแม่เมาะให้สมาร์ต กับ เกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่

1

          เกษศิรินทร์ แปงเสน(ไลท์) หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จบปริญญาโทด้านการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าทำงานที่ กฟผ. ตั้งแต่ปี 2533 เคยได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบด้านการมีส่วนร่วมของ กฟผ.และรางวัลบุคคลดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (One Mine One Person Award 2019) จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แม้จะดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเหมืองแม่เมาะมาโดยตลอด แต่มีความชื่นชอบงานชุมชนสัมพันธ์ลงพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่องเมื่อได้รับฟังเสียงสะท้อนด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ยิ่งทำให้มีแรงบันดาลใจในการหาแนวทางแก้ปัญหาและปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด

โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่

กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.แม่เมาะ ที่จะลดลงกว่าครึ่งในอีก 4 ปีข้างหน้า และจะหยุดระบบลงทั้งหมดในปี 2593 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานในพื้นที่ และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะลดลงเรื่อยๆและหมดไป โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่จึงตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่เมาะให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว เมื่อไม่มี กฟผ.แม่เมาะโดยเริ่มพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด และด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยเบื้องต้นมีแผนที่จะส่งเสริมพัฒนาในแต่ละด้านดังนี้

การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในเมืองน่าอยู่

พื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่เมาะเป็นพื้นที่ป่า เราจึงมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพป่าชุมชนสู่การยกระดับรายได้ชุมชนให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน เช่น โครงการเห็ดป่าคืนถิ่นโดยจะเลือกพื้นที่ป่าชุมชนที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่ต้นแบบนำผู้เชี่ยวชาญไปสอนเพาะเชื้อเห็ดป่าโดยไม่ต้องเผาป่าตามความเชื่อเดิม อีกหนึ่งโครงการที่จะเร่งทำคือโครงการการจัดการฝุ่นเพื่อลมหายใจและสุขภาพของทุกคน (Breath for All) โดยจะบูรณาการจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Sensor) ให้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่เมาะและจังหวัดลำปาง มีการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า ทำให้เราสามารถรับมือกับคุณภาพอากาศในแต่ละวันได้ รวมถึงการพัฒนาเส้นทางเข้าดับไฟป่าและสร้างแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชนที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก

การส่งเสริมพลังงานในเมืองน่าอยู่

ในปีนี้ กฟผ.แม่เมาะ จะรับซื้อเศษวัชพืชทางการเกษตรจากชุมชนประมาณ 1,000 ตัน มาทำเป็นชีวมวลอัดแท่งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเผาร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ในโครงการต้นแบบ Biomass Co-firing ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า อีกทั้งชุมชนยังมีรายได้จากการขายวัชพืชเหลือใช้ทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Solar Rooftopหรืออาคารประหยัดพลังงานที่เราทำสำเร็จแล้วในพื้นที่ กฟผ. และจะขยายผลต่อไปยังหน่วยงานราชการในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ

การส่งเสริมเศรษฐกิจในเมืองน่าอยู่

ชาวแม่เมาะทำเกษตรกันมาก เราจึงอยากส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่แม่เมาะให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เพื่อลดต้นทุนผักสวนครัว อ.แม่เมาะ โดยมีธนาคารต้นกล้า ส่งเสริมตลาด สร้างแบรนด์เพิ่มรายได้ รวมถึงการนำวัตถุพลอยได้จาก กฟผ.แม่เมาะ มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนทางการเกษตรพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer) ควบคู่เกษตรดั้งเดิม เพื่อมาขับเคลื่อนให้โครงการสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน อีกหนึ่งแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Quick Win) คือพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) ชวนนักกีฬามาวิ่งว่ายพายปั่น และรวดเที่ยวในอำเภอแม่เมาะโดยมีแผนยกระดับงานเดิน-วิ่งแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอนให้อยู่ในมาตรฐานระดับสากล (World Standard) ด้านพื้นที่รองรับการอพยพราษฎรบ้านดง เราจึงมีแนวคิดในการทำเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) เพื่อตอบโจทย์ข้อจำกัดของพื้นที่ และพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวิถีชีวิต จับจ่ายสินค้าชุมชน รวมทั้งต่อยอดไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆตามเส้นทางของตำบลบ้านดงได้ด้วย เช่น ภาพเขียนสีโบราณประตูผา ผาปักธง และสถานีท่องเที่ยวท่าสี ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ฝากถึงชุมชน

โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่จะสำเร็จไปสู่เป้าหมายได้ต้องได้รับร่วมมือจากทุกภาคส่วนและจุดมุ่งหมายคือในอนาคตชุมชนจะต้องสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆได้เอง โดย กฟผ.เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดัน กฟผ.มุ่งมั่นตั้งใจทำโครงการนี้เพื่อชุมชนจริงๆ เราอยากเห็นชาวแม่เมาะอยู่ดี กินดี มีสุข และอยากพัฒนาแม่เมาะให้เป็นปลายทางฝันที่ใครๆ ก็อยากมาเที่ยว เหนือสิ่งอื่นใดเราอยากให้ชุมชน หน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอำเภอแม่เมาะให้กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ เพื่อให้ลูกหลานชาวแม่เมาะสามารถอยู่ดี มีสุขพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวเพื่อความยั่งยืนต่อไป