Print

ก่อนจะเป็น อ.แม่เมาะ นั้น ผืนแผ่นดินแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทั้งทางธรณีวิทยา และทางศิลปะวัฒนธรรม ปรากฏในสถานที่สำคัญอย่าง บ่อเหมืองแม่เมาะ ถ้ำ และ วัด หนึ่งในนั้นคือ วัดหัวฝาย ต.บ้านดง เป็นวัดดั้งเดิมของคนแม่เมาะ ที่ปัจจุบันยังคงมีกลิ่นอายวิถีชีวิตในยุคบุกเบิกให้ได้เรียนรู้และศึกษาความเป็นมา ด้วยการอนุรักษ์ และทะนุบำรุงของคนในชุมชนมาเป็นอย่างดี

DSC 4541

 

เดิมชื่อของวัดหัวฝาย คือ วัดหัวฝายธรรมเลิศอุสสา ศรัทธาในหมู่บ้าน เล่าว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยตระกูลของพระยาธรรมเลิศอุสสา ซึ่งในอดีตเป็นเจ้าเมืองเมาะ (อ.แม่เมาะ ในปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2296 ต่อมาได้บูรณะก่อสร้างพระวิหารใหม่เมื่อปี พ.ศ.2477 โดยพ่อเลี้ยงหน้อยสา แม่คำใส เตชะเต่ย ซึ่งเป็นหลานของพญาธรรมเลิศ ว่าจ้างให้สล่าอินทร์ บ.เมาะหลวง และสล่าส่างจื่น ชาวเงี้ยว (ไทใหญ่) มาก่อสร้าง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2513 ได้ว่าจ้างหนานเกษม เขมจารีย์ บ.เมาะหลวง วาดจิตรกรรมฝาผนังวิหารภายใน บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเวสสันดรชาดก และพระมาลัย ด้วยการเลือกใช้สี และลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจิตรกรล้านนาท่านนี้ ทำให้ปัจจุบันยังคงสภาพความคมชัด สวยงามดังเดิม

DSC 4513

 

ก่อนเดินเข้าวิหารหลังนี้สะดุดตากับศิลปะการตกแต่งประตูหน้าบรรณทั้งสามบาน ที่มีการใช้กระจกหลากสีประดับเป็นรูปนกยูงรำแพน มีความละเอียดบรรจงและเลือกใช้สีสันที่น่าสนใจ ส่วนด้านในวิหารนอกจากภาพวาดโดยรอบแล้วยังมีหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญอย่าง พระประธาน ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพื้นบ้านล้านนา ลักษณะพระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงโค้ง พระนาสิกโด่งเป็นสัน กลางริมพระโอษฐ์บนหยักเป็นรูปปีกกาทาสีแดง ขมวดพระเกศาแหลมคล้ายหนาม ติ่งพระกรรณยาว เป็นลักษณะของพระพุทธรูปโบราณยุคล้านนา

DSC 8399

 

แม้ในอนาคตชุมชน บ.หัวฝาย บางส่วนต้องย้ายไปยังพื้นที่อพยพที่ได้รับจัดสรรใหม่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ แต่ศรัทธาในพื้นที่ยังคงใช้วัดแห่งนี้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาสำคัญเช่นเคย อย่างประเพณีแห่ช้างผ้า ซึ่งจัดเป็นประจำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปี๋ใหม่เมืองนั้น นับเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวแม่เมาะที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำช้างผ้า และถวายเครื่องครัวทานรวมถึงปัจจัยต่างๆ พร้อมจัดขบวนแห่รอบวิหาร 3 รอบอย่างสนุกสนาน หากมีโอกาสอยากให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบงานประเพณีเช่นนี้ได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเองซักครั้ง รับรองว่าอิ่มทั้งบุญ อบอุ่นทั้งใจแน่นอน

DSC 8564