อรรถเทพ สมัครธัญกิจ ชายผู้ปั้นดิน ให้อารมณ์ดี
กว่า 14 ปีที่แล้ว หลังซึมซับประสบการณ์จากเมืองหลวงจนเต็มอิ่ม โจ อรรถเทพ สมัครธัญกิจ ตัดสินใจกลับแม่เมาะบ้านเกิดยึดเอาพื้นที่โรงรถเล็กๆของพ่อ เป็นโรงงานสร้างเครื่องปั้นดินเผา หวังแค่ว่าวันหนึ่งจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ อารมณ์ดินสินค้าเซรามิกที่ขายดีที่สุดของศาลาไทย ในสนามบินสุวรรณภูมิ

ก้าวแรกของอารมณ์ดิน
ผมจบด้านการออกแบบเครื่องปั้นดินเผา คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา (เจ็ดยอด) พอเรียนจบก็พบว่าตัวเองไม่ชอบเป็นมนุษย์เงินเดือน จึงทำงานที่กรุงเทพสักพักแล้วกลับมาอยู่แม่เมาะบ้านเกิด ตั้งเป้าว่าวันหนึ่งอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ผมเริ่มจากสิ่งที่ถนัดก็คืองานเซรามิก ส่วนชื่อ อารมณ์ดินมาจากการปั้นเครื่องปั้นหมูยิ้ม ที่พอมองแล้วรู้สึกอารมณ์ดี ยิ้มตามเพราะผมใส่จินตนาการลงไปในดิน ทำให้ดินมีชีวิตชีวา

ก้าวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ธุรกิจช่วงแรกเรียกว่า งูๆปลาๆ ทำมาขายไป ช่วงแรกผมออกงานที่ กฟผ.แม่เมาะ ช่วยเหลือ เช่น งานเดิน-วิ่ง งานเทศกาลท่องเที่ยวและไปขายงาน csr ที่ กฟผ. บางกรวยด้วย ตอนนั้นยังจับจุดสินค้า
ของตัวเองไม่ได้ ช่วงแรกเป็นงานปั้นมือ ปั้นได้วันละ 10-20 ตัวต่อมาเริ่มเอาระบบอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ ทำให้ผลิตได้เร็วขึ้น จนได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนของอำเภอแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันนี้ ได้เห็นวิวัฒนาการของสินค้าเราขึ้นเรื่อยๆ สินค้าเริ่มมีpositioning มีจุดขายที่ชัดเจนขึ้น จนทำให้ได้เข้าไปวางขายกับ
King Power ที่ร้านศาลาไทย ในสนามบินสุวรรณภูมิ

จุดขายของอารมณ์ดิน
นอกจากเราจะใส่อารมณ์ลงไปในเครื่องปั้น ผสมกับความน่ารักสดใสแล้ว เราตั้งเป้าว่ามันต้องขายได้ด้วยตัวของมันเอง เครื่องปั้นของเราจึงมีเรื่องราว อย่างเซรามิกชุดเด็กชาวเขาที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งชาวต่างชาติชื่นชอบ เป็นชุดสินค้าที่ขายดีที่สุดของอารมณ์ดินในตอนนี้ เซรามิกชุดเด็กชาวเขาก็มีหมวกจริงๆ ที่ถักจากชาวเขาเผ่าลาหู่ ซึ่งเป็นชนเผ่าเก่าแก่ในลำปางมีประโยชน์ใช้สอยเป็นกระปุกออมสิน นอกจากนี้ยังมีเซรามิกชนเผ่าแม้ว และชาวนา ในอนาคตจะทำให้ครบทั้ง 4 ภาคของไทย

ช่างปั้นอารมณ์ดี
โรงงานเล็กๆของเรา มีพนักงานทั้งหมด 25 คน 80% เป็นคนแม่เมาะ ยอดผลิต 6,000 ชิ้น/เดือน บริหารจัดการส่งให้ KingPower ได้ทันทุกเดือน ถือเป็นความท้าทาย โรงงานนี้เน้นสร้างคนคุณภาพ เพื่อผลิตผลงานคุณภาพ ผมอยากให้คนในแม่เมาะมีงานทำ จึงวางระบบการจ้างงานเองทั้งหมด จดเป็นนิติบุคคลเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ส่วนวัตถุดิบก็เป็นของในลำปางทั้งหมด ดินขาวลำปาง มีการจ้างงานชาวเขา เช่น งานถักหมวกสามเณรน้อย ซึ่งใช้หลายพันใบต่อเดือน เป็นอีกหนึ่งงานเสริมที่ช่วยกระจายรายได้ให้คนในชุมชน ผมอยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่เล่า
เรื่องราวของลำปางให้คนต่างชาติรู้จัก หวังว่าวันหนึ่งคนจะอยากมาเที่ยว จนลำปางไม่ได้เป็นเพียงแค่เมืองรอง

ทุกคนในแม่เมาะประสบความสำเร็จแบบนี้ได้
ผมมองว่าทุกคนทำธุรกิจได้ เพียงแต่ต้องตั้งเป้าหมายให้ได้ก่อนว่าจะขายอะไร เริ่มจากตัวเองเก่งอะไร ผมเก่งเซรามิก ผมก็ทำเซรามิกจากนั้นดูว่าจะขายให้ใคร เริ่มต้นธุรกิจจะใจร้อนทุ่มเงินลงไปเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสะสมเวลาและประสบการณ์ ผมเชื่อว่าทุกคนในแม่เมาะทำได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าจะลงมือทำหรือไม่ ที่สำคัญคือก่อนจะทำอะไรต้องลงไปศึกษาให้รู้จริงและถ่องแท้ก่อนลงเงิน

เพราะแม่เมาะคือบ้าน
ผมคิดว่าวันนึ่ง อารมณ์ดินต้องเป็นสินค้าเอกลักษณ์ขึ้นชื่อของแม่เมาะเพราะผมเกิดที่แม่เมาะ เป็นแหล่งอาชีพของครอบครัว พ่อก็เป็นพนักงาน กฟผ.แม่เมาะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมมีความทรงจำวัยเด็กมากมาย ทั้งรถยักษ์ เครื่องบดถ่าน และโรงเรียนลิกไนต์ ดังนั้นแม่เมาะคือบ้าน ผมจึงหาวิธีทำยังไงให้บ้านเราน่าอยู่ ทำยังไงให้เศรษฐกิจแม่เมาะดี ส่วนตัวผมคิดว่าต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างการปรับกระบวนการคิด (Mindset) ของชุมชน ค่อยๆ ให้ชาวบ้านเรียนรู้ว่าทรัพยากรในชุมชนเป็นสิ่งมีค่า และช่วยกันทำให้ทรัพยากรนั้นเกิดความยั่งยืน ดังเช่นคำสอนในหลวง ร.9 พระองค์ทรงกล่าวว่าการหยิบยื่นปลาให้นั้นง่ายเกินไป ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการหาปลา การพัฒนาสินค้าให้แต่ละคน ต้องเริ่มต้นจากตัวตนของเขาว่าเขาอยากทำไหม แม่เมาะมีช่องทางขายสินค้าหลายที่ แต่สินค้าที่นำไปขายนั้น ต้องเป็นสินค้าที่ชุมชนอยากขายจริงๆ

การเมืองท้องถิ่นและคลื่นลูกใหม่ในแม่เมาะ
หลังๆ อาจจะเห็นผมเข้ามามีบทบาทในเวทีต่างๆ มากขึ้น เช่น การแสดงความคิดเห็นในเวที ค.1 MMRP2 ทัศนคติส่วนตัว ผมอยากให้กฟผ.แม่เมาะ เข้มแข็ง และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองท้องถิ่น ณ วันนี้ พลังคลื่นลูกใหม่ในชุมชนมีเยอะ แม้ว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังไม่มีบทบาทสำคัญ แต่ผมเชื่อว่ากลุ่มก้อนเล็กๆ ในแม่เมาะมีพลังที่จะขับเคลื่อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นกลุ่มลูกลิกไนต์ ที่เริ่มมีอิทธิพลทางความคิดใน Social media แม้จะยาก แต่ปลายอุโมงค์ยังมีแสงสว่าง

ฝากถึงชุมชนคนแม่เมาะ
ชุมชนจะต้องร่วมมือกับ กฟผ.แม่เมาะ ต้องแบ่งใจหากันคนละครึ่งทาง ไม่ใช่รอคอยความช่วย หากต้องการสร้างกลุ่มอาชีพ เมื่อกองทุนรอบโรงไฟฟ้าฯ สนับสนุนความช่วยเหลือมา คุณต้องเอาผล
กำไรกลับมาบริหารในกลุ่มของคุณ ต้องหาตลาด ต้องขายสินค้าด้วยตนเองให้ได้ แล้วนำเงินมาหมุน ลงทุนต่อยอดด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้

3-issuu-cr 01

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย