Print

ชีวิตชิดป่า ศาสนา และ เรื่องเล่าหลังผืนผ้า จาก แม่หลวงจารุณีย์ หละแหลม
เป็นระยะเวลากว่า 11 ปี ในฐานะแม่หลวงของชาวบ้านกลาง แม่หลวงจารุณีย์ หละแหลม วัย 40 ปี ถือเป็นกำลังสำคัญของหมู่บ้าน ดูแลทั้งครอบครัวและชุมชน วันนี้เราจึงได้ถือโอกาสมองบ้านกลางในอีกแง่มุม ผ่านทัศนะและสายตาของแม่หลวงจารุณีย์

น้ำยาอเนกประสงค์ โฮมเมด
แม่หลวงชวนผู้หญิงในหมู่บ้านรวมกลุ่มกันทำน้ำยาอเนกประสงค์ บ้านเรามีมะกรูดมะนาวก็เอามาทำเริ่มแรกมีต้นทุนแค่ร้อยกว่าบาท ก็ขอสตางค์จาก กฟผ. เอาไปซื้อสารตั้งต้น อย่าง N70และน้ำตาล แล้วก็สอนชาวบ้านทำน้ำหมัก ใช้ได้ทั้งล้างจาน ล้างห้องน้ำ และซักผ้า กลายเป็นตัวหลักที่ช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ผ้าปัก ผ้าทอ แบบ ปกาเกอะญอ
อย่างเรื่องทอผ้า เราเคยของบ กฟผ. มาสอนชาวบ้านทอผ้ายกดอกต่อมาก็ประยุกต์ลายเข้ากับการปักลูกเดือย จากเดิมที่เราทอลายพื้นๆ ก็ทำให้ผ้าเรามีลวดลายหลากหลายมากขึ้น ตอนนี้ผ้า ปักปกาเกอะญอ เป็นที่ต้องการของตลาดไม่น้อย แต่เรายังมีข้อจำกัด ตรงที่ผ้าแต่ละชิ้นใช้เวลาทอนาน ทุกวันนี้เราจึงทอให้ลูกและสามีใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่ได้หวังมีเงินเป็นกอบเป็นกำ แต่หวังจะสร้างเครื่องนุ่งห่มเป็นของตัวเองได้นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายแล้ว เรายังได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมการทอผ้าของเราขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งด้วย

คน ผึ้ง ป่า
ปีนี้ กฟผ. ก็เข้ามาเขียนโครงการเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งให้เรา ภายใต้งบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลบ้านดง 100,000 บาท ซึ่งจะเน้นเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้หน้าตาน้ำผึ้งออกมาดูงาม เราเชื่อว่าน้ำผึ้งของเราเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพเพราะป่าเรามีความหลากหลายของดอกไม้ น้ำผึ้งแต่ละหยดมาจากการดูแลป่า นี่คือหลักการสำคัญ หากเราไม่ดูแลป่า ก็ไม่มีน้ำผึ้ง

ชีวิต ชิด ป่า
เราแบ่งเขตป่าออกอย่างชัดเจนว่าตรงไหนใช้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย ป่าพื้นที่ทำกิน เราทำแนวกันไฟทุกปี ไม่ให้ไฟลุกลามเข้ามายังเขตป่าชุมชน ไม่อย่างนั้นสัตว์ป่าจะสูญพันธุ์ สภาพแวดล้อมจะเสียหาย อาหารของเราก็จะหายไป บ้านกลางจึงเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เราลึกซึ้งและผูกพันกับป่า เพราะเราถือว่าป่าคือทุกอย่างของเรา

แนวคิดที่แตกต่าง
แนวคิดของบ้านกลางจะต่างจากที่อื่นตรงที่เรามองเศรษฐกิจเป็นเรื่องพอเพียง เราอยู่ได้ด้วยวิถีแบบนี้ มีหน่วยงานเอกชนพยายามพัฒนาเราให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แต่ว่าเราไม่ตอบรับเพราะเราคิดว่าจะมีเรื่องขยะและกลุ่มทุนเข้ามา ถ้าหากเราเอาเงินเป็นเรื่องใหญ่ จะกลายเป็นปัญหา ทุกอย่างที่บ้านกลางจึงมี
กฎระเบียบที่ตั้งไว้ บ้านกลางจึงไม่มีภูเขาหัวโล้นไม่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด เพราะมันเป็นเกษตรพันธสัญญาที่เราต้องไปเอาปุ๋ย เอายาจากเขา แล้วสุดท้ายก็ต้องขายให้เขาได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับเขาเป็นคนกำหนด เกษตรกรรมแบบนั้นใช้ทรัพยากรมากมาย และอาจจะทำให้คนอื่นในหมู่บ้านเดือดร้อน

สิ่งที่บ้านกลางอยากได้จาก กฟผ.
จริงๆทุกวันนี้หมู่บ้านเราได้เยอะมากแล้ว วันหนึ่งถ้า กฟผ. ไม่อยู่เราก็ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเราเอง เพราะเรานำงบประมาจาก กฟผ.เข้ามาใช้เป็นฐานมากมาย เช่น การทำฝาย เบิกนา ซึ่งให้เป็นทุนชีวิตชาวบ้านที่ต้องต่อยอดได้ เราไม่ได้เอา
เงินมาละลายโดยไม่เกิดผล เราจึงไม่ขัดแย้งเรื่องเงิน เพราะเราใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เราอยู่ได้ในระยะยาว

สังคมภายนอกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหมู่บ้านจะยังดำรงความเป็นหมู่บ้านเอาไว้เช่นนี้อย่างไร
เราเองพยายามจะปลูกฝังวัฒนธรรมให้เด็กรุ่นหลัง ได้เรียนทอผ้าจักสาน เรียนภาษากะเหรี่ยง อีกสิ่งสำคัญคือให้เด็กได้เรียนรู้และผูกพันกับป่าและธรรมชาติมากที่สุด

ศาสนา และ วิถีชีวิต
บ้านกลางเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งแรกในไทยที่ได้รับการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ ชาวปกาเกอะญอ ดังนั้น เราคิดว่า ป่าไม้และทรัพยากรรอบตัวเราเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างและประทานให้เราดูแล นี่คือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเราไว้ หากเราตัดไม้ หรือรัฐพาเราออกจากป่าไป ชุมชนก็ต้องล่มสลาย รากเหง้าเราอยู่ตรงนี้
ดังนั้น เหตุที่เราดูแลพื้นที่ป่าตรงนี้ให้อุดมสมบูรณ์ที่สุด เพราะเรารักษาอาณาจักรของพระเจ้าด้วยชีวิตของเราจึงลึกซึ้งกว่าที่คนภายนอกจะเข้าใจ นี่คือกุญแจสำคัญที่ทำให้บ้านกลางยังอยู่ได้ไม่ใช่ว่าพ่อหลวงแม่หลวงเก่ง หรือเพราะว่าทรัพยากรของเราดีกว่าที่อื่น แต่ชาวบ้านเรามีความคิดที่ดี มีความรักให้กันใจคนมีความ
ซื่อสัตย์ต่อกัน

ทิ้งท้าย
จริงๆแล้ว งบประมาณที่ได้รับจาก กฟผ. นั้นไม่น้อยเลย สำหรับบ้านกลางแล้ว เราพยายามใช้เพื่อเป็นฐานของหมู่บ้านให้แข็งแรงและมีประโยชน์ที่สุด เราเอาเงินตรงนี้ไปยกระดับและพัฒนาชีวิตของคนในหมู่บ้าน ไม่ว่า กฟผ. จะอยู่หรือไม่อยู่แล้ว แต่คน กฟผ. ภูมิใจได้ว่า เงินของ กฟผ. เกิดประโยชน์กับหมู่บ้านแล้ว

Maemoh2Final 01