ซากพืช ซากสัตว์ ถ่านหิน ภูเขาหินปูนสูงตระหง่าน ที่รายล้อมรอบ อ.แม่เมาะ คาดว่ามีอายุหลาย ล้านปี ล้วนเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่แสดงให้เห็นว่าผืนแผ่นดินแห่งนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เมื่อปี 2531 ปรากฏหลักฐานชิ้นสำคัญอีกหนึ่งแห่งเป็นภาพเขียนสีโบราณอายุราว 3,000-5,000 ปี ที่บริเวณประตูผา ต.บ้านดง จุดเชื่อมต่อระหว่าง อ.แม่เมาะ และ อ.งาว สวัสดีแม่เมาะฉบับนี้ขอชวนมาแอ่วสำรวจแหล่งโบราณคดีที่ พันโท ชูเกียรติ มีโฉม หรือลุงโบ อดีตรั้วของชาติ ข้าราชการบำนาญ มณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้ค้นพบ

DSC 0499

 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งลุงโบเป็นหัวหน้าชุดครูฝึกทหาร ได้มาประจำอยู่จุดที่ค่ายประตูผา สังเกตเห็นว่าจุดที่ประจำการอยู่นั้นมีภาพวาดบนหน้าผา เมื่อเข้าไปดูด้วยสายตาตัวเองใกล้ๆ ค่อนข้างมั่นใจว่าภาพที่ปรากฏเป็นภาพเขียนสีโบราณ จึงทำหนังสือรายงานไปที่กองทัพบก จากนั้นกรมศิลปากรและนักโบราณคดีได้เข้ามาสำรวจ และเก็บข้อมูลในพื้นที่ ส่งตัวอย่างบางส่วนไปตรวจสอบที่ประเทศสวีเดน พบว่ามนุษย์ในยุคนั้นนำหินเหล็ก ดินเทศ ผสมกับยางไม้ และไขมันสัตว์มาใช้ในการวาดภาพบนหน้าผาหินปูนแห่งนี้ ปรากฏเป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม การดำรงชีวิตในยุคก่อนได้เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ

DSC 0445

DSC 0454

 

เส้นทางสำรวจภาพเขียนสีโบราณอยู่บริเวณด้านข้างศาลเจ้าพ่อประตูผา ระยะทางยาวกว่า 3 กม. มีทั้งหมด 7 จุด เกือบ 2,000 รูป ซึ่งแต่ละจุดจะมีภาพที่โดดเด่นไม่เหมือนกัน อย่างกลุ่มภาพที่ 1 “ผาเลียงผา” ปรากฏภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือ ภาพสัตว์ขนาดใหญ่สองตัว เมื่อมองดูแล้วคล้ายเลียงผา กลุ่มภาพที่ 2 “ผานกยูง” พบภาพเด่นเป็นสัตว์คล้ายนกยูง ปนกับภาพดอกไม้ และสัตว์น้อยใหญ่อีกหลายชนิด กลุ่มภาพที่ 3 “ผาวัว” ภาพเด่นแสดงถึงเรื่องราวการประกอบพิธีกรรมบูชายัญสัตว์คล้ายวัว กลุ่มภาพที่ 4 “ผาเต้นระบำ” พบภาพคล้ายสตรีกำลังเต้นระบำ และมีเรื่องราวของกลุ่มคนกำลังจับวัวที่กำลังต่อสู้กัน กลุ่มภาพที่ 5 “วัฒนธรรมหินตั้ง” พบภาพบุคคลนอนบนหินแล้วหันศีรษะไปทางทิศใต้ ร่างกายถูกห่อพันไว้ มีเครื่องหมายกากบาททับบริเวณทรวงอก เล่าถึงการทำพิธีกรรมทำศพของคนในวัฒนธรรมหินตั้ง กลุ่มภาพที่ 6 “นางกางแขน” พบภาพคล้ายผู้หญิงยืนกางแขนทั้งสองข้างออกไปคล้ายกับกำลังทำพิธีกรรมบางสิ่ง กลุ่มภาพที่ 7 “ผาล่าสัตว์” พบภาพคล้ายชาย 2 คน แสดงการจับตีวัว และภาพที่มักปรากฏทุกจุดคือภาพประทับฝ่ามือจำนวนมาก สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้ใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของมนุษย์ในยุคนั้น

DSCF7907

DSCF7940

 

ร่องรอยที่คนในอดีตสร้างเอาไว้ กาลเวลาผ่านไปวิวัฒนาการจนกลายวิถีชีวิตของเราในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะผ่านไปนานเพียงใด เราทุกคนต่างต้องช่วยกันรักษามรดกอันล้ำค่านี้ไว้ ช่วยกันดูแล ไม่ขูดขีดเขียนลงบนภาพเขียนสี ต้นไม้ หรือหิน เพื่อเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป สามารถเที่ยวชมภาพเขียนสีได้ทุกวัน เวลาที่เหมาะสมคือช่วง เวลา 08.30-18.00 น.

DSC 0346

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย