thelast

ปี 2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟหลวง ทรงมีพระประสงค์จะสงวนป่าไม้ไว้ จึงได้โปรดให้มีการสำรวจหาเชื้อเพลิงอย่างอื่นนำมาใช้แทนฝืนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำของรถไฟ ในการนี้ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส ชื่อนายบัวแยร์ (MG.Boy-er) ให้มาดำเนินการสำรวจในระยะแรก และในปี 2464 - 2466 ได้ว่าจ้างชาวอเมริกัน ชื่อนายวอลเลซ ลี (Wallace Lee) ดำเนินการสำรวจต่อไป จากผลการสำรวจพบว่ามีถ่านหินลิกไนต์ที่บริเวณแม่เมาะ จังหวัดลำปางและที่คลองขนาน จังหวัดกระบี่

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ และห้ามมิให้ประทานบัตรการทำเหมืองแก่เอกชนอื่นใดอีก

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2497 มีการจัดตั้งสำนักงานสำรวจภาวะถ่านลิกไนต์ขึ้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่ามีถ่านลิกไนต์มากเท่าใด มีวิธีขุดอย่างไรจึงจะเสียค่าใช้จ่ายน้อย และจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง จากการสำรวจพบว่าปริมาณถ่านลิกไนต์ในเบื้่องต้นที่แม่เมาะ จำนวน 15 ล้านตันและคาดว่าอาจจะพบเพิ่มในปริมาณสูงถึง 120 ล้านตัน ดังนั้นจะได้ร่างแผนงานเบื้องต้นขึ้นเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล โดยมีโครงการขุดถ่านลิกไนต์ขึ้นมาเพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้เป็นวัตถุมูลฐานในการทำเคมีภัณฑ์ และใช้เป็นถ่านหุงต้ม

เมื่อรัฐบาลเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว ในปี 2497 จึงได้ตราพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ เพื่อดำเนินกิจการถ่านหินลิกไนต์ให้บังเกิดผลอย่างจริงจัง และในปีเดียวกันนี้เององค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ได้ก่อสร้างที่ทำการและบ้านพักที่แม่เมาะด้วยงบประมาณจากรัฐบาล เครื่องจักรเครื่องมือที่ได้รับจากรัฐบาลและสหรัฐอเมริกา และผู้เชี่ยวชาญองค์การลิกไนต์จากประเทศออสเตรเลียจำนวน 3 นายมาเป็นที่ปรึกษา ได้เปิดการทำเหมืองแม่เมาะโดยเปิดหน้าดินก่อนแล้วจึงขุดถ่านลิกไนต์

ในปี 2497 ได้เริ่มผลิตถ่านลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะออกจำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบในภารเหนือ โรงงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่นครราชสีมา โรงปูนซีเมนต์ของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ที่ตาคลี (นครสวรรค์) ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการเจาะสำรวจหาปริมาณถ่านลิกไนต์ควบคู่ไปด้วย ได้พบว่าที่แม่เมาะนี้มีถ่านลิำกไนต์ฝังตัวอยู่ทั่วบริเวณ ประมาณ 120 ล้านตัน และสามารถที่จะขุดขึ้นมาใช้งานได้คุ้มค่า 43.6 ล้านตัน

เมื่อประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนการขั้นแรกคือ การผลิตลิกไนต์จำหน่ายเป็นเชื้อเพลิง ขั้นต่อมาก็ได้ดำเนินการก่อลร้างโรงจักรแม่เมาะขนาดกำลังผลิต 12,500 กิโลวัตต์ ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงล้วน

เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการลิกไนต์คล่องตัวและกว้างขวางขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง "การลิกไนต์" เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2503 โดยได้โอนกิจการและทรัพย์สินขององค์การพลังงานไฟฟ้ามาเป็นของการลิกไนต์ มีอำนาจดำเนินการในเขตท้องที่จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่และตาก จนกว่าการไฟฟ้ายันฮีจะขยายกิจการไปถึง

ในปี 2503 คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การ เอ.ไอ.ดี (Agency for International Develoddment) ได้สำรวจความต้องการไฟฟ้าในประเทศไทย และได้เสนอให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำแม่เมาะให้แล้วเสร็จในปี 2513 แต่ในขณะนั้นความต้องการไฟฟ้าในภาคเหนือยังมีไม่มาก และถ้าจะส่งพลังงานไฟฟ้ามายังภาคกลางก็จะต้องลงทุนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ายาวหลายร้อยกิโลเมตร เมื่อรวมราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและขยายเหมืองแม่เมาะแล้ว ผลที่ได้ยังไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้นจึงได้ชะลอโครงการไว้ก่อน

ในปี 2511 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขึ้นโดยรวมเอากิจการของการลิกไนต์การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นหน่วยงานเดียวกัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 ดังนั้น กฟผ. จึงได้รับโอนทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่ และภาระทั้งมวลจากทั้ง 3 องค์การมาดำเนินการ

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2515 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะจำนวน 3 หน่วย ขนาดหน่วยละ 75,000 กิโลวัตต์ พร้อมกับงานขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตจากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ก่อสร้างและติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าเสร็จใช้งานแล้ว 13 หน่วย

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีทั้งหมด 13 เครื่องมีกำลังผลิตรวม 2,625 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย

   โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1-3 กำลังผลิตเครื่องละ   75 เมกะวัตต์   
   โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 กำลังผลิตเครื่องละ   150 เมกะวัตต์   
   โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 8-13 กำลังผลิตเครื่องละ   300 เมกะวัตต์   

โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1 และ 2 ได้หยุดเดินเครื่องตั้งแต่ 1 มีนาคม 2543 และเครื่องที่ 3 หยุดเดินเครื่องตั้งแต่ 13 กันยายน 2542 ดังนั้นโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จึงมีกำลังผลิตปัจจุบันคือเครื่องที่ 4-13 จำนวน 2,400 เมกะวัตต์จ่ายไฟฟ้าสำหรับภาคเหนือ 50% ภาคกลาง 30% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20% ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื่อเพลิงปีละประมาณ 16 ล้านตัน

รายละเอียดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 1-13

เครื่องที่เริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จเดินเครื่องงบประมาณ(ล้านบาท)
1 มีนาคม 2518 2521 2521 -
2 มีนาคม 2518 2522 2522 -
3 มีนาคม 2518 2524 กุมภาพันธ์ 2524 เครื่องที่ 1-3 รวมกัน 3,616
4 มกราคม 2524 2527 ธันวาคม 2527 -
5 มกราคม 2524 2527 ธันวาคม 2527 -
6 เมษายน 2525 2528 2528 -
7 สิงหาคม 2525 กันยายน 2528 กันยายน 2528 เครื่องที่ 4-7 รวมกัน 16,246
8 เมษายน 2529 ตุลาคม 2532 ตุลาคม 2532 9,672
9 กันยายน 2530 มกราคม 2533 มกราคม 2533 8,533
10 มกราคม 2532 กันยายน 2534 กันยายน 2534 7,659
11 กันยายน 2532 มกราคม 2535 มกราคม 2535 6,535
12 ตุลาคม 2534 ธันวาคม 2538 ธันวาคม 2538 15,067
13 ตุลาคม 2534 ธันวาคม 2538 ธันวาคม 2538 12,651


กฟผ. ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการ ฯ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ในปี 2533 กฟผ. ได้วางแผนให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 12-13 มีระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization System - FGD) โดยให้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2538 ขณะเดียวกันได้ศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ฯ สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่น ๆ ที่ได้เดินเครื่องจ่ายไฟเข้าระบบแล้วในปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ฯ แล้วเสร็จสำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-13รายละเอียดการก่อสร้างเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-13

เครื่องที่เริ่มก่อสร้างเดินเครื่องงบประมาณ(ล้านบาท)
4 ตุลาคม 2540 14 กุมภาพันธ์ 2543 -
5 ตุลาคม 2540 14 กุมภาพันธ์ 2543 -
6 ตุลาคม 2540 7 ธันวาคม 2542 -
7 ตุลาคม 2540 7 ธันวาคม 2542 เครื่องที่ 4-7 รวมกัน 2,321
8 พฤศจิกายน 2537 26 พฤศจิกายน 2540 -
9 พฤศจิกายน 2537 17 กันยายน 2540 -
10 พฤศจิกายน 2537 28 มีนาคม 2541 -
11 พฤศจิกายน 2537 30 มกราคม 2541 เครื่องที่ 8-11 รวมกัน 2,624
12 ตุลาคม 2536 2 พฤษภาคม 2538 -
13 ตุลาคม 2536 18 กันยายน 2538 2,160

หมายเหตุุ เครื่องที่ 1-3 ไม่ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซฯ เนื่องจากได้หยุดเดินเครื่อง(Cold Stanby) แล้ว

อ้างอิงข้อมูลจาก maemoh.egat.com

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย