DSC 1307 2 0

           ย้อนไปเมื่อปี 2561 กฟผ.แม่เมาะ มอบทุนวิจัย “โครงการศึกษาการตอบสนองของชุมชนต่อการใช้จิตรกรรม ฝาผนังเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม – กรณีศึกษาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ” เป็นกิจกรรมที่คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ร่วมกับกองชุมชนสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ (ชื่อขณะนั้น) ทำร่วมกับชุมชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ น.ส.สิริรัญญา ณ เชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพฝาผนังและหัวหน้าโครงการฯ ที่ได้รับทุนวิจัยจาก กฟผ.แม่เมาะ นายสันต์ แก้วประเทศ ผู้ใหญ่บ้านเมาะหลวง และนายแดง ทนันไชย ปราชญ์ชุมชนบ้านเมาะหลวง ได้รู้จักกันเพื่อหารือและระหว่างการทำฐานข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม อ.แม่เมาะ และเกิดเจตนารมณ์ร่วมกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูภาพจิตรกรรมเก่าบนแผ่นไม้ จำนวน 10 แผ่น ของวัดเมาะหลวง บ้านเมาะหลวง ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อีกครั้ง หลังจากภาพเก่าดั้งเดิมได้ถูกไสและขูดทิ้งออกไป และทำการพ่นสีสเปรย์และระบายสีสังเคราะห์ทับเมื่อปี 2552 จึงทำให้ไม่มีภาพเก่าโบราณนี้อีกต่อไป

แรงบันดาลใจผู้ใหญ่สันต์

          “ต้องการให้เยาวชนได้รู้จักความเป็นมาและชาติกำเนิด ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของอำเภอแม่เมาะให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านและของ อ.แม่เมาะ สู่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป หากไม่อนุรักษ์ไว้สูญสิ้นแน่นอน เห็นภาพวาดแล้วความทรงจำเก่าย้อนมาหมด รู้สึกขนลุก ตื้นตันและดีใจมาก อาจารย์วาดได้ใกล้เคียงภาพดั้งเดิมมาก” ผู้ใหญ่สันต์ ทำงานเพื่อชุมชนกว่า 12 ปี อู้จ๋าแนวคิดและยังสนับสนุนไม้สักสำหรับวาด ลงแรงเลือกหาซื้อไม้สักที่ไม่มีแกนไม้ด้วยตัวเอง

เบื้องหลังการวาด อ้างอิงภาพดั้งเดิมอายุกว่า 300 ปี

          ผศ.ดร..สิริรัญญา ณ เชียงใหม่ หรือ อาจารย์มิ้ม ผู้วาดภาพ และเคยอาศัยอยู่ใน อ.แม่เมาะ ตั้งแต่เด็ก ก่อนย้ายถิ่นฐานไปอยู่เชียงใหม่ เนื่องจากครอบครัวตั้งแต่คุณตา คุณลุง คุณแม่ เคยเป็นผู้ปฏิบัติงานใน กฟผ.แม่เมาะ อู้จ๋าว่า ทุกขั้นตอนชุมชนมีส่วนร่วมโดยตลอด ทั้งการทำประชาพิจารณ์ การลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้อง การวาดภาพบนแผ่นไม้สักมีความคงทนและเก็บรักษาได้นาน ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้วาดภาพ เนื่องจากต้องอ้างอิงความรู้ที่เป็นวิชาการและหลักฐานตามประวัติศาสตร์ โดยมีกระบวนการดำเนินการวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักการวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางพิจารณา เพื่อสนับสนุนกระบวนการวิจัยศึกษา วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของชุมชนอย่างถูกต้องและเหมาะสม ในการวาดภาพขึ้นใหม่บนแผ่นไม้สักแท้ต้องสร้างภาพร่าง โดยอ้างอิงข้อมูลประวัติศาสตร์และรูปที่คาดว่าพ่อค้าไม้ได้จ้างให้คนพม่าที่มาตั้งรกรากในชุมชนเมาะหลวงเป็นผู้วาดภาพ ซึ่งมีอายุกว่า 300 ปีในหนังสือ “เยือนถิ่นแม่เมาะ” เขียนและเรียบเรียงโดย นายแดง ธนันไชย ปราชญ์ชุมชนบ้านเมาะหลวง

          “เดิมภาพเขียนโบราณบนแผ่นไม้สักมี 12 ภาพ ปัจจุบันเหลือเพียง 10 ภาพ ตอนร่างภาพจากภาพถ่ายต้นฉบับในหนังสือเยือนถิ่นแม่เมาะ มีรายละเอียดที่ไม่ค่อยชัดมากนัก จึงร่างลายเส้นใหม่ด้วยเทคนิคดิจิทัลเพ้นท์ติ้ง (Digital Painting) ก่อน จากนั้นทำการขยายภาพด้วยการใช้ภาพฉายโปรเจ็คเตอร์ ร่างลงบนแผ่นไม้จริงและเก็บรายละเอียดเพิ่ม โดยพยายามสร้างผลงานให้คล้ายคลึงกับภาพผลงานดั้งเดิมให้มากที่สุด ทั้งการใช้สี เลียนแบบรูปลักษณ์ความเก่าของแผ่นไม้ และลายเส้นที่พอจะปรากฎอยู่ในภาพให้คล้ายจริงกับข้อมูลภาพถ่ายที่ได้รับ รู้สึกดีใจที่ผู้ใหญ่สันต์เห็นความสำคัญ และถ้าไม่มีหนังสือเยือนถิ่นแม่มาะ คงวาดภาพได้ไม่สำเร็จ”

10 ภาพวาด บอกเล่าเรื่องราวสำคัญในอดีต

          ภาพวาดทั้ง 10 ภาพ มีคุณค่าต่อจิตใจคนในชุมชนเพราะในแต่ละภาพได้ถ่ายทอดบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เรื่องราวสำคัญต่างๆ และวิถีชีวิตชุมชนเมาะหลวงในอดีตซึ่งหาชมได้ยากและสอดคล้องกับสถานที่จริง เช่น ตำนานดอยผาช้าง เป็นเรื่องราวที่เล่าขานเกี่ยวกับการกำเนิดประเพณีประจำ ต.แม่เมาะ ตำนานช้างผ้า สัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะทั้งช้าง ม้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชุมชน การทำสัมปทานป่าไม้ซึ่งเป็นการค้าขายในยุคนั้นเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ การแต่งกายหลากหลายวัฒนธรรมและเชื้อชาติของผู้คนต่างถิ่นฐานที่ได้มาอยู่อาศัยร่วมกันอย่างผาสุก ภาพพระพุทธเจ้าที่มีการครองจีวรเช่นเดียวกับพระพุทธรูปพม่า เจ้าชายสิทธัตถะที่มีเครื่องทรงแบบราชสำนักพม่า ขุนนางในราชสำนักนุ่งผ้าลุนตยา การแต่งกายแบบล้านนา สตรีเปลือยหน้าอก หรือห่มผ้าแถบ นุ่งซิ่นตาลายขวาง ผมเกล้ามวยต่ำ รวมถึงการแต่งกายสากล แบบชาวตะวันตก มีการสวมหมวก นุ่งเสื้อเชิ้ต นุ่งกางเกงขายาว รวมทั้งสัตว์โบราณในอดีตกาลมากมายที่เคยอาศัยอยู่ในแม่เมาะแต่สูญพันธ์ไปแล้ว เช่น ช้างสี่งา เป็นต้น

ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชน พัฒนาภาพให้มีชีวิตด้วยเทคโนโลยี

          10 ภาพวาด ปัจจุบันถูกนำไปติดตั้งไว้ในพระอุโบสถพระเจ้าปิ้น วัดเมาะหลวง เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมความงดงาม ในอนาคตโครงการฯ จะจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปะควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเรียนรู้สู่เยาวชน อ.แม่เมาะ โดยจะมีการอธิบายความหมายของทั้ง 10 ภาพ เทคนิคการสร้างผลงานจิตรกรรม และจะมีการพัฒนาให้ภาพวาดมีชีวิตด้วยด้วยเทคโนโลยีการสร้างภาพวัตถุเสมือนจริง (Augmented Reality (AR) ที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มอรรถรส โดยใช้มือถือสแกนบนภาพแล้วสร้างภาพสามมิติที่มีเสียง และการเคลื่อนไหวแอนนิเมชั่น เช่น คนเดิน งวงช้างขยับไปมา ม้ามีการขยับเคลื่อนไหว เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมชุมชนผ่านการวาดภาพจิตรกรรมให้ชนรุ่นหลังสืบต่อไปได้ตระหนักถึงความสำคัญในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่ดงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย