Print

436200444 835646878604114 6700629332975472782 n

          เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ในพื้นที่ อำเภอแม่เมาะ” โดยมี นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ว่าที่ ร.ต.ธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว กำนัน ต.บ้านดง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิต ซื้อ ขาย ชีวมวลวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกรรม ต.บ้านดง และ นายวนิชโรจน์ ธนโรจน์ชวิน ประธานกรรมการที่ปรึกษา บริษัท ล่ำซำ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมด้วย นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องมุ่งงานเลิศ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

          การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (หก-มน.) กฟผ.แม่เมาะ จะนำร่องส่งเสริมการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ในพื้นที่หมู่บ้านอพยพ ต.บ้านดง ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 250 ไร่ โดย นาง เกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กล่าวรายงานและนำเสนอภาพรวมในอนาคตของโครงการฯ ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องแนวทางการจัดการพื้นที่ของราษฎรที่ได้รับการอพยพออกจากพื้นที่แล้วด้วยการส่งเสริมชุมชนปลูกหญ้าอาหารสัตว์ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ช่วยแก้ปัญหาเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและลดปัญหามลภาวะทางอากาศ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้จากการขายหญ้าอาหารสัตว์ รวมทั้งเกิดผลกำไรปันผลสู่ชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจฯ นำไปสู่การพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ ตามรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และเป็นต้นแบบที่จะสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ทั้ง อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตราษฎรให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายหลังกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะลดลงกว่าครึ่งในปี 2569 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในพื้นที่ อ.แม่เมาะ และสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) จ.ลำปาง

          โครงการฯ ดังกล่าว กฟผ.แม่เมาะ สนับสนุนพื้นที่ 250 ไร่และงบประมาณจำนวน 8.2 ล้านบาท ในการดำเนินงาน เช่น เตรียมพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ซื้อกล้าพันธุ์ การบำรุงรักษา ตลอดจนเป็นเงินทุนหมุนเวียน ด้าน บริษัท ล่ำซำ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด สนับสนุนเทคโนโลยี และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน เช่น การปลูก การดูแลเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงตามมาตรฐานเพื่อมีรายได้จากการจำหน่ายหญ้ามากขึ้น การเก็บเกี่ยวและการแปรรูป รวมถึงตลาดรับซื้อหญ้าสด นำไปจำหน่ายในรูปแบบหญ้าอาหารสัตว์อัดเม็ด และวิสาหกิจชุมชนฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล บริษัทเอกชน ปศุสัตว์จังหวัด สำนักวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ รวมถึงป่าไม้ จ.ลำปางเข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง สู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

          ทั้งนี้หญ้าอาหารสัตว์มีชื่อว่าจวินเฉ่าเป็นหญ้ายักษ์ของจีนที่ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” นำมาเป็ฯโครงการช่วยแก้ปัญหาความยากจนในจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยบริษัท ล่ำซำฯ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์หญ้า จวินเฉ่าในไทย และตั้งชื่อใหม่เป็น “หญ้าพารากอน” โปรตีนสูงกว่าข้าวโพดจึงเหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ มีคุณสมบัติปลูกง่าย โตเร็ว ปลูกครั้งเดียวให้ผลผลิตยาวนาน 20 ปี และสร้างรายได้เฉลี่ย 20,000 บาท/ไร่/ปีซึ่งมากกว่าการปลูกข้าวโพด