Print

          ฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะสื่อสารทิศทางการดำเนินงานปี 67 ถ่ายทอดแผนปฏิบัติการพร้อมมอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับกองและแผนกได้ทราบ เตรียมเดินหน้า 4 แผนงานสำคัญ ได้แก่ Boiler Modification, การควบคุมอัตราค่าความร้อน, การปรับปรุงโรงผลิตน้ำใสสำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ, การ Optimized ระบบ Steam Soot Blower แนะให้มองวิกฤตและความท้าทายขององค์กรเป็นของขวัญที่ให้โอกาสได้เรียนรู้

          เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมแม่เมาะ(137) อาคารบริหารโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ(อฟม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจัดงานสื่อสารทิศทาง อฟม.2567 ถ่ายทอดนโยบายและแผนปฏิบัติการในปี 2567 ให้กับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานได้รับทราบ ภายในงานมีกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชัน การมอบประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้กับผู้ปฎิบัติงาน จำนวน 32 คน และการตอบข้อซักถามจากผู้ปฏิบัติงาน โดยงานดังกล่าวมีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบ Microsoft teams meeting ให้กับผู้ปฏิบัติงานลานกระบือ และหน่วยงานภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

JOE 9626

          นายปริญญา สาระไชย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้า-2 กล่าวรายงานว่า งานสื่อสารทิศทาง อฟม.เพื่อให้ผู้บริหารได้สื่อสารทิศทางในปี 2567 ภายใต้ธีมงาน มองวิกฤตให้เป็นของขวัญ เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสเรียนรู้ หรือ CHALLENGES =GIFTS, LEARN & GROW ! โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงานก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจและทำงานไปในทิศทางเดียวกันที่ชัดเจน โดยมุ่งหวังให้เกิดประสิทธิภาพบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานตามเป้าหมายตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน

JOE 9660

          นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้มอบนโยบายและถ่ายทอดแผนปฏิบัติการสำคัญในปี 2567 ว่า กฟผ.มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 โดยใช้กลยุทธ์ Triple S ประกอบด้วย Sources Transformation ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้า, Sink Co-Creative เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ Support Measures Mechanism สนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อย CO2 สำหรับในปี 2567-2575 ฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มองเห็นโอกาสในการดำเนินงานเนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักในภาคเหนือซึ่งพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น Energy Storage, Hydrogen, CCUS Plant, Solar Energy, Biomass Co-Firing Plant และการดำเนินงานของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่

          สำหรับความท้าทาย ปี 2567- 2575 ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะมีกำลังการผลิตลดลง 46 % จากเดิมกำลังการผลิตที่ 2,455 เมกะวัตต์ จะเหลือเพียง 1,315 เมกะวัตต์ ในปี 2569 โดยจำนวนผู้ปฏิบัติงาน อฟม.ลดลง 11 % จากจำนวนผู้ปฏิบัติงาน 603 คน ในปี 2567 จะเหลือผู้ปฏิบัติงานเพียง 537 คน ในปี 2569 นอกจากนั้นก็ยังมีในส่วนของเชื้อเพลิงคือมีปริมาณถ่านหินลดลง 50 % ซึ่งเพียงพอกับโรงไฟฟ้าขนาด 1,315 MW โดยตั้งแต่ปี 2574 ถ่านหินจะมีค่า CaO สูงเกิน 35% และจะต้องควบคุมคุณภาพการปล่อยอากาศเสียจากโรงไฟฟ้าให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ประกาศเมื่อ 28 สิงหาคม 2566 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2575

          ด้านแผนปฏิบัติการสำคัญ อฟม.ในปี 2567 จำนวน 4 แผน ได้แก่

          1.Boiler Modification หรือการปรับปรุง Boiler โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 14 ให้เผาถ่าน High CaO 40 % ที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2567 นี้

          2.การควบคุมอัตราค่าความร้อน(NET HEAT RATE) ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมาค่า Heat Rate PA ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ โดยปี 2567 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่เกณฑ์ 5 PA : 10,552 BTU/kWh

          3.ปรับปรุงโรงผลิตน้ำใสสำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่จากเดิมโรงผลิตน้ำใสมีการใช้งานมานาน โดยเราจะปรับปรุงโรงผลิตน้ำใสของโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8 โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ Microfiltration/Ultrafiltration (MF/UF) โดยมี Capacity ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้เรามีโรงผลิตน้ำใสใหม่ นอกจากนั้นยังสามารถรองรับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 9-12-13 ได้อีกด้วย

          4.Optimized ระบบ Steam Soot Blower การปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะมีการนำ AI จากโครงการ IMO เข้ามาใช้งานในระบบ Steam Soot Blower ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13 สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 14 จะนำ AI เข้ามาช่วยในปรับรูปแบบการทำงานของ Soot blower ในบริเวณ Superheat coil ให้มีความเหมาะสมกับอัตราการสะสมตัวของ Slag/fouling เพื่อลดปัญหา Boiler tube leak

JOE 9845

          นอกจากนั้นยังมีการศึกษาความเป็นไปได้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะให้สอดรับกับภารกิจของโรงไฟฟ้าแม่เมาะในอนาคตโดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ทั้งนี้แผนงานสำคัญที่ได้แจ้งมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ต้องเข้มงวดก็คืองานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญและผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องตระหนัก เรื่อง Safety ต้องไม่ Compromise ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานมีเครื่องมือช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้นในการทำ Safety talk การทำงานทุกอย่างเรื่องความปลอดภัยต้องเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง โดยในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในห้องประชุมและรับฟังในระบบออนไลน์ได้สอบถามข้อสงสัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

JOE 9787