Print

426556352 800274548808014 8119034078447059926 n

          ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งภาคนโยบายได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระค่า Ft แทนประชาชนไปพลางก่อนตั้งแต่งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 จนถึง ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นราคาเชื้อเพลิงได้ปรับลดลงทำให้ กฟผ. เริ่มทยอยได้รับต้นทุนค่า Ft ค้างรับคืนมาบางส่วน ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. ยังคงเหลือค่า Ft ที่แบกรับแทนประชาชนอยู่ที่ประมาณ 95,000 ล้านบาท 

           ขณะเดียวกัน มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ได้เห็นชอบให้เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าร้อนแม่เมาะ หน่วยที่ 8-11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า พยุงราคาพลังงาน ทำให้ เหมืองแม่เมาะ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตถ่านหินลิกไนต์และหินปูน ส่งให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องผลิตถ่านเพิ่มอีก 14.6 ล้านตัน

          ทั้งนี้ กฟผ.แม่เมาะ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 หน่วยงาน ทั้งเหมืองแม่เมาะและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ถือเป็นอีกหนึ่งความมั่นคงทางพลังงาน ช่วยลดภาระ และพยุงราคาต้นทุนค่าพลังงานของประเทศ โดยเหมืองแม่เมาะในปัจจุบันมีปริมาณถ่านหินลิกไนต์คงเหลือ 148 ล้านตัน (ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566) สามารถขุดได้อีกประมาณ 17 ปี จากปริมาณถ่านที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด 827 ล้านตัน

          สำหรับถ่านหินลิกไนต์ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปางนั้น ย้อนไปเมื่อปี 2466 ถูกค้นพบจากการสำรวจหาแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2470 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ใช้ในราชการเท่านั้น โดยพระบรมราชโองการมีใจความว่า

427953838 800274488808020 7455465784777246415 n

          “ด้วยประทานบัตร์บ่อถ่านศิลาที่บ้านดอน ซึ่งอนุญาตให้แก่ บริษัท บ่อถ่านศิลาสยาม จำกัด ทำนั้น ได้หมดสิ้นไปแล้ว ฉันเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะดำริรวบรวมบ่อถ่านศิลาในพระราชอาณาจักรไว้สำหรับรัฐบาลทำเอง เพราะจะเปนประโยชน์แก่บ้านเมืองต่อไปหาน้อยไม่ เพราะฉนั้นต่อไปให้สงวนบ่อถ่านศิลาที่ บ้านดอน ที่แขวงเมืองกระบี่ และที่แม่เมาะ ไว้สำหรับรัฐบาลตรวจทำ ถ้ามีผู้ใดมาขอประทานบัตร์หรือสิทธิใดๆ ในเขตต์ทั้งหลายที่กล่าวแล้ว จงแจ้งให้ทราบว่า เปนที่ๆ รัฐบาลสงวนไว้ใช้ในราชการ”

           ต่อมาในปี 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์” เพื่อดำเนินกิจการถ่านลิกไนต์ให้เกิดผลอย่างจริงจัง ได้เปิดการทำเหมืองแม่เมาะ ผลิตและจำหน่ายให้กับโรงบ่มใบยาสูบในภาคเหนือ โรงงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่นครราชสีมา โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด ที่ตาคลี (นครสวรรค์) โรงไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงไฟฟ้าสามเสน ของการไฟฟ้านครหลวง (กทม.)

          กระทั่งปี 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การลิกไนต์” โอนกิจการและทรัพย์สินขององค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการลิกไนต์คล่องตัวและกว้างขวางมากขึ้น จนเมื่อปี 2512 ได้จัดตั้ง “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” ขึ้น โดยรวมเอากิจการของการลิกไนต์ , การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นหน่วยงานเดียวกัน

426513900 800274482141354 6211575969724167314 n

          ในปี 2515 ได้เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ จำนวน 3 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 75 เมกะวัตต์ พร้อมกับขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตถ่านลิกไนต์เป็นปีละล้านตัน จากเดิมปีละแสนกว่าตัน จนปัจจุบัน ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018 rev.01) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีกำลังการผลิต 2,455 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 19,000 ล้านหน่วยต่อปี

           ขณะที่ เหมืองแม่เมาะ ปัจจุบันมีพื้นที่บ่อเหมืองประมาณ 16,000 ไร่ กว้าง 4 กิโลเมตร และยาว 7 กิโลเมตร ยังคงผลิตถ่านหินลิกไนต์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าตามแผนการให้ได้อย่างต่อเนื่อง ปีละประมาณ 14-15 ล้านตัน ต้องเปิดหน้าดินประมาณ 112 ล้านลูกบาศก์เมตรแน่นต่อปี มุ่งพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง พร้อมกับเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ตามแผนแม่บทการทำเหมืองที่จะดำเนินการจนถึงปี 2592 ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนโดยรอบพื้นที่การทำงาน

          สำหรับการดำเนินงานหลังจากนี้จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แม่เมาะ กำลังการผลิต 38.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 65.368 ล้านหน่วยต่อปี นำร่องติดตั้งเพื่อใช้ในการดำเนินงานการทำเหมือง และยังได้วางแผนพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2592 กำลังผลิตรวม 2,405 เมกะวัตต์

          รวมถึง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) เพื่อทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่ของระบบไฟฟ้า ช่วยบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน , การศึกษาโครงการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage: CCS) , โครงการสำรวจและศึกษาการทำเหมืองใต้ดินบริเวณกลางแอ่งแม่เมาะ และการขายวัตถุพลอยได้จากการทำเหมือง (Humic) ของเหมืองแม่เมาะ เป็นต้น

427886766 800274562141346 5715636388058097882 n

           นับจนถึงปัจจุบันในปี 2567 นี้ เป็นเวลากว่า 97 ปี แล้วที่ประเทศไทยได้นำถ่านหินลิกไนต์มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจ นำพาประเทศไทยผ่านพ้นภาวะวิกฤตมาหลายต่อหลายครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ใช้ในราชการเท่านั้น ซึ่งการทำงานของเหมืองแม่เมาะ นอกจากจะปฏิบัติงานตามภารกิจของ กฟผ. เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศแล้ว ยังเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีกด้วย