DSC 2970 2 0

ทำความรู้จักกับเสน่ห์น่าสนใจของกีฬาแฮนด์บอลชายหาดและน้องๆ ทีมนักกีฬาแฮนด์บอลชายหาด โรงเรียนสบจางวิทยา ต.นาสัก ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์และชื่อเสียงให้กับ อ.แม่เมาะ คว้าแชมป์แฮนด์บอลชายหาด ประเภทเยาวชนชาย รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปีเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ได้เป็นตัวแทนภาคเหนือเข้าแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศกับอีก 15 ทีมในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 39 "ราชบุรีเกมส์" วันที่ 21 มีนาคม 2567

กระโดดขาคู่ หมุนตัวยิง ความท้าทายที่มีเสน่ห์

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนอกจากผู้จัดการทีม นางสาวกัณห์ญาวีพ์ ศิริน่าน ผู้อำนวยการโรงเรียนสบจางวิทยา ที่ส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งดูแลน้องๆ ขับรถพาไปแข่งขันจังหวัดต่างๆ ตลอดจนจัดหางบสำหรับสิ่งจำเป็นในการบำรุงทีม ไม่ว่าจะเป็นชุด อุปกรณ์ ค่าอาหาร ค่าน้ำมันในการเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ยา (น้ำมันมวย สเปรย์เย็นคลายกล้ามเนื้อเมื่อเป็นตะคริว ยาคลายกล้ามเนื้อ) และครูผู้ควบคุม (นายนรินทร์ สายเทพ และ นายปรเมศวร์ ทองคำ) แล้ว

สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งน้องๆ ทั้งทีมอู้จ๋าพร้อมกันว่า “ต้องมีใจรัก” เพราะเป็นกีฬาที่เหนื่อยและใช้พลังมากกว่ากีฬาชนิดอื่น ต้องวิ่งให้คล่องแคล่วว่องไวบนความหนืดของสนามพื้นทรายที่พื้นไม่สม่ำเสมอ หนึ่งทีมมี 10 คน แต่ลงสนามแค่ 4 คน รวมประตู ต้องคอยดูจังหวะวิ่งสลับกันเข้า-ออกสนามให้ไวเพื่อเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับตลอดเวลา

ตลอดจนมีความยากและท้าทายมากมายทั้งโยกตัว หมุนตัว การหลอกจ่าย ได้บอลแล้วก้าวขาวิ่งได้ไม่เกิน 3 ก้าว แล้วต้องส่งบอลต่อให้เพื่อนและระวังการปะทะร่างกาย หากทีมคู่แข่งรุกต้องตั้งรับ ตามติดให้เล่นบอลได้ยากที่สุด หรือกระโดดตัวลอยเพื่อบล็อก โดยเฉพาะการทำประตูที่เป็นเสน่ห์ไฮไลท์ของแฮนด์บอลชายหาดคือ กระโดดขาคู่แล้วหมุนตัวยิงประตูจะได้ 2 คะแนน เป็นวิธีทำคะแนนได้ดีกว่าการยิงประตูโดยทั่วไป แข่งขันเกมละ 10 นาที ถ้าผลคะแนนเสมอกันต้องเล่นลูกใหม่ ทีมใดได้แต้มก่อนทีมนั้นชนะเกม (โกลเด้นโกล) พัก 5 นาที แล้วเล่นเกมที่ 2 อีก 10 นาที เมื่อแข่งครบ 2 เกม (พีเรียด) หากผลคะแนนเสมอกันต้องเล่นชูตเอ๊าท์ (ยิงลูกโทษ) เพื่อหาทีมชนะ กีฬาชนิดนี้จึงมีเสน่ห์ชวนเล่นที่น่าติดตามดู

ซ้อมหนักเพื่อร่างกายแข็งแกร่ง

สนามแฮนด์บอลชายหาดมีระยะสั้นกว่าสนามแฮนด์บอลในร่ม เพราะฉะนั้นมากกว่าความแม่นยำในการยิงประตูคือ ความฟิตร่างกายให้แข็งแรง คล่องตัว ปราดเปรียว วิ่งไม่รู้จักเหนื่อย ซึ่งน้องๆ ฝึกซ้อมหนักทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน วันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมทั้งมีการตรวจสมรรถภาพร่างกายอาทิตย์ละครั้งโดยซ้อมหนักกว่าเดิมหลายวิธี เช่น วิ่งลากยางรถยนต์ขึ้นเนิน การทำพุ่งหลังที่ผสมผสานระหว่างการวิดพื้นและการ สควอชจั๊มป์ 5-10 ครั้ง ที่เหนื่อยเหมือนวิ่งขึ้นเขาแต่ช่วยให้ร่างกายออกกำลังกายได้ครบทุกส่วน การวิ่งเก็บเส้นชายหาด กระโดดขาเดียวและขาคู่ นอกจากทั้ง 8 คนนี้ยังมีน้องใหม่ในทีมอีก 5 คน เรียนอยู่ ม.ต้น มาซ้อมด้วยกันทุกวัน แต่ยังไม่มีสิทธิ์ลงแข่งขัน เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนนักกีฬาจังหวัด

กีฬาเปลี่ยนชีวิต

แฮนด์บอลชายหาดเป็นมากกว่ากีฬาการแข่งขันเพราะเป็นกีฬาแฟร์เพลย์ที่เล่นกันเป็นทีมโดยมุ่งเน้นการเคารพซึ่งกันและกันทั้งทีมตัวเอง คู่แข่งขันมากกว่าการเอาชนะ สร้างประสบการณ์ดีๆ หลายอย่าง ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม ให้กำลังใจ เข้าใจและอภัยซึ่งกันและกัน สร้างแรงบันดาลใจให้ก้าวสู่นักกีฬาอาชีพระดับประเทศในอนาคต ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเด็กผู้ชายวัยรุ่นที่ชอบรวมกลุ่มขี่มอเตอร์ไซด์เที่ยวเล่นยามค่ำคืนมาเรียนบ้างไม่มาบ้าง กลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาของทีมและมาโรงเรียนทุกวัน ช่วยจุดประกายให้เด็กคนอื่นๆ ได้เห็นคุณค่าตัวเองอีกด้วย

21 มี.ค. 67 ติดตามถ่ายทอดสด ส่งแรงใจเชียร์

สิ่งสำคัญที่ทำให้ทีมได้เป็นตัวแทนภาคเหนือเป็นปีที่ 3 ไปแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 39 “ราชบุรีเกมส์” ระหว่างวันที่ 21 – 31 มีนาคม 2567 นั้นก็เพราะความรัก ความสามัคคี ความไว้วางใจ มั่นใจกันและกันของทีมที่ได้รับการฝึกซ้อมเป็นอย่างดี แม้รู้สึกกดดันแต่น้องๆ จะทำผลงานให้ดีที่สุด

น้องไม้ ผู้แทนทีมอู้จ๋าว่า “แฮนด์บอลชายหาดเป็นกีฬาแฟร์เพลย์ที่เล่นเป็นทีม การเก่งเพียงคนเดียวไม่สามารถพาทีมชนะได้ ต้องเชื่อใจและมั่นใจในทีม การเป็นนักกีฬาแฮนด์บอลชายหาดที่ดีต้องขยันฝึกซ้อมด้วยความมีวินัย และไม่ว่าจะเล่นกีฬาประเภทไหน ไม่ต้องกังวลว่าทำได้ไหม อยู่ที่ใจล้วนๆ ขอแค่เปิดใจและรักจริงก็ประสบความสำเร็จแน่นอน”

21 มีนาคม 2567 เป็นวันแรกของการแข่งขัน ชาว อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง ร่วมส่งแรงใจเชียร์น้องๆ “ทีมกีฬาแฮนด์บอลชายหาด โรงเรียนสบจางวิทยา” ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Sobjang Weareone

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย