Print

          เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ณ ห้องรักองค์การ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นผู้แทน กฟผ.แม่เมาะ ให้การต้อนรับ นายพัชระ สิมะเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ อ.แม่ทะ และ อ.เกาะคา และคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานสรุปผลการศึกษา “การพัฒนาระบบสารสนเทศการตรวจประเมินและวางแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพฝายและการพัฒนาระบบข้อมูลของสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำคูคลองและถนนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง” ภายในงานมีการสรุปผลการศึกษาโครงการฯ และทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม WaterCenter (cmu.ac.th) ของศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย ตันชัยสวัสดิ์ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอผลการศึกษา

424561712 791027593066043 4825661449383899791 n

          นายพัชระ สิมะเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ลุ่มน้ำแม่จางที่ไหลผ่าน อ.แม่เมาะ อ.แม่ทะ อ.เกาะคา และ อ.เมือง จ.ลำปาง มักประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ การดำเนินโครงการพัฒนาระบบการสำรวจและบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้งตลอดลำน้ำจาง เป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากผลการศึกษาดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงข้อมูลจำนวนฝายที่มีอยู่ทั้งหมดในลุ่มน้ำแม่จาง สภาพฝาย ปริมาณตะกอนดิน สิ่งกีดขวางทางน้ำและแนวทางการแก้ไข ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะแสดงผลแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำองค์ความรู้และข้อมูลที่ได้รับในวันนี้ไปวางแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับพื้นที่ของตน

          น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในส่วนของ อบจ.ลำปาง ตั้งใจจะจัดทำข้อมูลทั้งจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อได้รับการขอสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทาง อบจ.ลำปาง ขาดข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ทำให้ไม่ทราบว่าพื้นที่ไหนมีความสำคัญเร่งด่วน จุดไหนเป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อจะนำมาดำเนินการต่อในการจัดสรรงบประมาณ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการเรื่องน้ำก็คือ ฝายและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เมื่อมีข้อมูลเราจะสามารถวางแผนในการบริหารจัดการได้ดีขึ้น ซึ่ง อบจ.ลำปาง อยู่ระหว่างการดำเนินงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพบปัญหาเบื้องต้นเช่น การเปิดปิดประตูน้ำลุ่มน้ำจางไม่เหมาะสม ซึ่งการดำเนินงานของ กฟผ.ถือเป็นสิ่งที่ดีเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบ้านในพื้นที่อย่างยั่งยืน

          นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กล่าวว่า การจัดทำโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการขั้นสูงในพื้นที่ลุ่มน้ำจาง จ.ลำปาง เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศการตรวจประเมินและวางแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพฝายในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จาง โดยใช้ความรู้ในทางวิชาการร่วมกับองค์ความรู้ของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝายจำนวนมากที่ก่อสร้างและอยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำคูคลองและถนนที่มีปัญหาการกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จาง พร้อมข้อวิธีการแก้ไขปัญหาการกีดขวางทางน้ำในแต่ละแห่งจากผู้เชี่ยวชาญ

424563401 791028529732616 5333786592695040260 n

          โครงการ “การพัฒนาระบบสารสนเทศการตรวจประเมินและวางแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพฝายและการพัฒนาระบบข้อมูลของสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำคูคลองและถนนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง” กฟผ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำโครงการดังกล่าว โดยดำเนินการสำรวจฝายและสิ่งกีดขวางที่อยู่บริหารลุ่มน้ำแม่จาง จำนวน 17 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่เมาะ 5 ตำบล, อ.แม่ทะ 10 ตำบล, อ.เมืองลำปาง 1 ตำบล (ต.พระบาท), และ อ.เกาะคา 1 ตำบล(ต.วังพร้าว) พบมีฝายจำนวน 334 ฝาย และจำนวนตำแหน่งสิ่งกีดขวางทางน้ำ 42 แห่ง โดยผลการศึกษาตลอดจนข้อมูลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนบริหารจัดการ และเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง หรือน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่

424554437 791028499732619 2234908188849054737 n