Print

DSC 4776

โรงไฟฟ้าแม่เมาะต้อนรับคณาจารย์ และคณะนักศึกษา หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในโอกาสศึกษาดูงาน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเพื่อนำข้อมูลไปปรับใช้ในการเรียนการศึกษาต่อไป

          เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ นำโดย นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อฟม.) นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อรม.) พร้อมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำปาง ให้การต้อนรับ พลเอก เจนสิทธิ์ คนศิลป์ ที่ปรึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พร้อมด้วยคณาจารย์ และคณะนักศึกษา หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 ในโอกาสเยี่ยมชมกิจการ กฟผ.แม่เมาะ เพื่อนำข้อมูลไปปรับใช้เป็นแนวทางการเรียนการศึกษาต่อไป ณ ห้องรักองค์การ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

DSC 4554

          โอกาสนี้ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 62 บรรยายในหัวข้อ “ลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยง สร้างสรรค์ น่าอยู่ ยั่งยืน” โดยกล่าวถึงภาพรวมภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ของจังหวัดลำปางในการเตรียมความพร้อมในทุกมิติเพื่อศึกษา พัฒนา ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดลำปางเป็นเมืองแห่งความสุข 2 มิติ (Livable & Smart City) ด้วยการผสมผสานมนต์เสน่ห์แห่งความเป็นเมืองเก่า เชื่อมโยงไปสู่เมืองใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดลำปางให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นจังหวัดเป้าหมายนำร่องโครงการยกเมืองรองสู่เมืองหลัก 10 จังหวัดเพื่อยกระดับ 10 จังหวัดให้เทียบเท่าเมืองหลัก ลดความเหลื่อมล้ำได้แบบรวดเร็ว ถาวร และเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต อาทิ พัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและอากาศเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคเหนือตอนบน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านกิจกรรม เทศกาล และประเพณีท้องถิ่น

DSC 4644

          ด้าน นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้บรรยายถึงความเป็นมาและภารกิจของโรงไฟฟ้าแม่เมาะในการนำถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำราว 1.50 บาทต่อหน่วยเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศมายาวนานตั้งแต่ปี 2512 ตลอดจนกรอบยุทธศาสตร์แผนงานและโครงการต่างๆ ในการเตรียมพร้อมรองรับก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามนโยบายของรัฐภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ ได้แก่ Sources Transformation การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้า โดยนำพลังงานชีวมวลอัดแท่งมาผสมใช้กับถ่านหินลิกไนต์ผลิตไฟฟ้า พัฒนาโครงข่ายโรงไฟฟ้าให้ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, Sink Co-creation การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม เช่น โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ซึ่งดำเนินการปลูกมาตั้งแต่ ค.ศ. 2022 - 2031 และ Support Measures Mechanism การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CO2)

          หลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้บริหาร กฟผ. คณาจารย์ และคณะนักศึกษา หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันโดยคณะจะนำความรู้และข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการเรียนและการศึกษาต่อไป

DSC 4660

DSC 4533