ช่องค้นหา

DSC 9996

         กฟผ.แม่เมาะ โดยโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ร่วมกับอำเภอแม่เมาะ และภาคีเครือข่าย เปิดศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อำเภอแม่เมาะ พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน “FireD” (ไฟดี) ระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลในชุมชน อ.แม่เมาะ และเปิดช่องทางรับซื้อเชื้อเพลิงภายใต้แนวคิด “ไม่เผา เราซื้อ” ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างยั่งยืน

          เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมแม่เมาะ อาคารจำป่าแดด ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิด “ศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อำเภอแม่เมาะ และทดสอบใช้งานระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดฝุ่น PM 2.5” เพื่อลดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน ค.ศ. 2050 ตามนโยบายรัฐ โดยมี นายธีระพล บุญตัน ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอแม่เมาะ กล่าวรายงาน นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 กล่าวนำเสนอโครงการ พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ส่วนราชการ อ.แม่เมาะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้ง 5 ตำบล อ.แม่เมาะ หน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนใน อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปางเข้าร่วมพิธี

JOE 4088

          นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ข้อมูลในปี 2565 ตั้งแต่เดือน มกราคม–พฤษภาคมค่าฝุ่นละอองจากการเผาใน จ.ลำปาง เกินค่ามาตรฐานสูงโดยมีพื้นที่ถูกเผาประมาณ 760,000 ไร่ คิดเป็น 10% ของจังหวัดลำปาง อำเภอแม่เมาะมีพื้นที่ถูกเผาประมาณ 108,000 ไร่ ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากอำเภองาว โดยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถูกเผามากถึง 90% ขอขอบคุณ กฟผ. เป็นอย่างยิ่งที่ได้ดำเนินการเปิดศูนย์บัญชาการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ อ.แม่เมาะ โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านระบบ FireD พร้อมทั้งได้พัฒนาต่อยอดโดยเพิ่มช่องทางการรับซื้อเศษชีวมวลเพื่อลดการเผา และสร้างรายได้ให้กับชุมชน หากพื้นที่ อ.แม่เมาะ ลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กได้สำเร็จจะเป็นต้นแบบขยายผลสู่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดลำปางในอนาคตในการร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่จังหวัดลำปางอย่างยั่งยืนต่อไป

          นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 กล่าวว่า การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และเป็นต้นเหตุของก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของ อ.แม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ โดยโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ร่วมกับ อ.แม่เมาะ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำระบบ FireD ที่มีต้นแบบจาก จ.เชียงใหม่ มาใช้เป็นสื่อกลางระหว่างศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อำเภอแม่เมาะกับภาคประชาชนในการตัดสินใจบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล จากเดิมที่มีเพียงการขอเผาในที่โล่งโดยลงทะเบียนและบันทึกคำร้อง พร้อมระบุรายละเอียดพื้นที่ขออนุมัติเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดวันเผาโดยพิจารณาจากข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลพยากรณ์ และข้อมูลจากแบบจำลองคุณภาพอากาศ คณะทำงานได้พัฒนาต่อยอดเพิ่มทางเลือกพิเศษภายใต้แนวคิด “ไม่เผา เราซื้อ” ขึ้น เพื่อให้ชุมชนที่มีชีวมวลในพื้นที่ยื่นคำร้องเสนอขายชีวมวลโดยจะมีกระบวนการนำชีวมวลออกจากพื้นที่มาจัดการเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด นำไปเผาร่วมกับถ่านหินในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะต่อไป

         ด้านการจัดเสวนาหัวข้อ “ฮ่วมแฮง ฮ่วมใจ๋ แม่เมาะฟ้าใส ห่างไกลฝุ่นควัน” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขับเคลื่อนศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อำเภอแม่เมาะ ในการบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการเผาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

         รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ทรรศนะว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีของ อ.แม่เมาะ ในการเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วนให้รู้สึกภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมลดฝุ่นทั้งนี้ต้องมีข้อมูลที่เป็นความจริงและถูกต้องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเพื่อลดฝุ่นให้สำเร็จต่อไป

         ด้านนายธีระพล บุญตัน ปลัดอาวุโสอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ค่า PM2.5 เกินมาตรฐานสูง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ตลอดจนสุขภาพอนามัยของประชาชน การแก้ปัญหาที่ต้นทางจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านระบบ FireD และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดจากการเผามาเป็นขาย สร้างรายได้และลดฝุ่นอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวเราและ อ.แม่เมาะ

          นอกจากนี้นายสุรชัย แสงศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง ให้มุมมองว่า ข้อมูลทั้ง 5 ตำบลในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ทั้งภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคเกษตร ภาคป่าไม้ การจัดการของเสีย อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ส่งให้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปางนั้นเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่การวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น จังหวัดลำปางมีพื้นที่ป่า 70% ปริมาณเชื้อเพลิงผลัดใบและร่วงหล่นมากในฤดูแล้งตั้งแต่เดือน มกราคม – เมษายน หากทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กใน อ.แม่เมาะเท่านั้น แต่จะเป็นการช่วยลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กของ จ.ลำปาง และภาคเหนืออีกด้วย

JOE 4152

          สำหรับนางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กฟผ.แม่เมาะ กล่าวถึงแนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชนระยะยาวว่า ปัจจุบันมีจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ต้น ตอ ใบ เปลือก ซัง ข้าวโพด ฟางข้าว ใบไม้แห้ง เศษไม้จากการทำตะเกียบหรือแปรรูป ที่ ต.จางเหนือ ในอนาคตจะกระจายสู่อำเภออื่นๆ โดยจะมีการตั้งวิสาหกิจชุมชนและโรงงาน Biomass Pellet หรือ เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ขึ้น สนับสนุนให้ชุมชนผลิตและจำหน่วยเพื่อเป้าหมาย 15% ในการนำชีวมวลมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน ทั้งนี้จะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมชุมชน อ.แม่เมาะ ให้ตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการใช้แฟลตฟอร์มไฟดีและยื่นคำร้องขายชีวมวลมากขึ้น เช่น ให้รางวัลสำหรับหมู่บ้านที่ใช้แอปพลิเคชัน “ไฟดี” ช่วยลดปัญหาฝุ่นในพื้นที่ ตลอดจนนำคณะทำงานลงพื้นที่อบรมให้ความรู้และแนะนำการใช้แอปพลิเคชัน “ไฟดี” ในหมู่บ้านเป้าหมายที่มีการเผาไหม้ซ้ำซาก

          ด้านการส่งเสริมชุมชนผลิต Biomass Pellet ที่ กฟผ.แม่เมาะ มุ่งมั่นขับเคลื่อนนั้น ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวมวลและ Black Pellets กล่าวถึงภาพรวมทิศทางตลาด Biomass Pellet ว่า จากเดิมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการจำหน่ายในประเทศเท่านั้น แต่ปัจจุบัน Pellet จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้รับความสนใจและนำไปใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งมีการส่งออกขายในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ตลอดจนมีการสร้างโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งเกิดขึ้นในไทยมาอย่างต่อเนื่อง สร้างความตื่นตัวให้กับทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในการร่วมกันลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่ง อ.แม่เมาะ หากมีการใช้ชีวมวลได้เต็มระบบก็จะเป็นตลาดชีวมวลที่ใหญ่สุดของภาคเหนือ

          ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการเสวนาผู้เข้าร่วมงานได้เยี่ยมชมศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อำเภอแม่เมาะ และร่วมทดสอบใช้งานระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้นำชุมชน ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ทดสอบใช้งานแอปพลิเคชัน FireD เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ต่อปในอนาคตอย่างยั่งยืน

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย