พลิกวิกฤตสู่โอกาสใหม่ เหมืองแม่เมาะศึกษาการทำ “เหมืองใต้ดิน”

เพื่อประโยชน์สูงสุดของ อ.แม่เมาะ และประเทศไทย

DSC 0985 0

ปลายปี 2564 เกิดวิกฤตพลังงานโลกราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงตาม คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติมีมติให้ กฟผ. ขยายการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-11 จนถึงสิ้นปี 2568 เพราะต้นทุนต่ำ ส่งผลให้การใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในระยะยาวอาจไม่เพียงพอครบอายุการใช้งานโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 14 และ โรงไฟฟ้าทดแทน MMRP-2 (อยู่ระหว่างการจัดหาจัดจ้างผู้ก่อสร้าง) หรือตามแผนแม่บทการทำเหมืองแม่เมาะฉบับปี 2563 ที่จะยุติการทำเหมืองสิ้นปี 2592 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า แต่ในวิกฤตการใช้ถ่านหินที่สูงขึ้นจากวิกฤตราคาพลังงานก็ยังมีโอกาสใหม่ที่อาจต่ออายุเหมืองแม่เมาะได้อีกด้วย

ศึกษาเพื่อเปลี่ยน “วิกฤต” เป็น “โอกาส”

โอกาสใหม่นี้คือ “โครงการสำรวจและศึกษาการทำเหมืองใต้ดินบริเวณกลางแอ่งแม่เมาะ” ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ นายเกรียงไกร สุภาพ หรือ พี่ช้าง อู้จ๋าว่า โครงการฯ ตั้งขึ้น 1 มิถุนายน 2566 จากแนวคิดผู้บริหารรองผู้ว่าการเชื้อเพลิง และ นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ วางแผนศึกษา 3 ปีให้ได้ข้อสรุปด้านเทคนิค ความปลอดภัย ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการทำเหมืองใต้ดินในเขตประทานบัตรที่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ กฟผ. และประเทศไทยจะศึกษาการทำเหมืองถ่านหินใต้ดินจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญการทำเหมืองใต้ดินต่างประเทศให้คำแนะนำปรึกษาหลายด้านซึ่งอยู่ระหว่างการจัดหา โดยเมื่อมีนาคม 2566 ผู้เชี่ยวชาญเครื่องจักรกลเหมืองใต้ดิน Broadmaedow ประเทศออสเตรเลีย ลงพื้นที่พิจารณาศักยภาพเหมืองแม่เมาะพร้อมให้ความเห็นเบื้องต้นว่าโครงสร้างธรณีวิทยาการวางตัวชั้นถ่านหินมีความเป็นไปได้และเหมาะสมจะทำเหมืองใต้ดินด้วยวิธี Long wall top coal caving (LTCC) ทั้งนี้ควรตรวจสอบความแข็งแรงของชั้นดินและถ่านให้แน่ชัด และคณะผู้บริหารเหมืองแม่เมาะได้ไปเหมืองใต้ดิน Broadmaedow ประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อศึกษาข้อมูลการทำเหมืองใต้ดินเพิ่มเติม

เหมืองใต้ดิน โอกาสใหม่เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

พี่ช้างเผยว่า โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่และสำคัญยิ่งของภาคเหนือ หากเหมืองแม่เมาะสามารถขุดถ่านหินลิกไนต์บริเวณกลางแอ่งในระดับลึกและได้ปริมาณ 126 ล้านตันตามที่เคยประเมินความสมบูรณ์ทางธรณีวิทยานอกเหนือจากแผนแม่บท จะมีถ่านเพียงพอสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าได้ครบตามอายุ และยังมีพร้อมพอสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ได้อีก 1 โรงในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งมีผลดีต่อประเทศชาติในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิง อีกทั้งถ่านหินมีคุณภาพค่าความร้อนเฉลี่ยสูงขึ้นทำให้ใช้ถ่านน้อยในการผลิตไฟฟ้า

ทำความรู้จัก LTCC วิธีการใหม่ ผลิตถ่านหินลิกไนต์

การทำเหมืองถ่านหินใต้ดิน LTCC เหมาะกับแหล่งถ่านหินที่มีความหนาชั้นถ่านมากกว่า 6 เมตร ใช้แพร่หลายในจีนและออสเตรเลีย ขั้นตอนการขุดถ่านหินใต้ดินพี่ช้างอธิบายว่า ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและชุดเครื่องจักรกลสำคัญ ได้แก่ 1. Shearer เครื่องตัดหรือกัดถ่านหิน 2. Roof support ค้ำยันเพดาน มีระบบไฮดรอลิคช่วยรับแรงด้านบนเพดานและพื้นล่างของอุโมงค์ สามารถเคลื่อนตัว มีแขนยืดและพับช่วยดันหรือดึงสายพาน 3. Armored face conveyor ชุดสายพาน 2 ชุด ลำเลียงถ่านออกจากหน้างาน ควบคุมระบบการขุดด้วยรีโมท มีเซ็นเซอร์ตรวจสอบวัดคุณภาพระบบต่างๆ มีระบบสเปรย์น้ำและระบบระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยช่วยลดความเสี่ยงการทำงานในอุโมงค์

มาตรการจัดการสิ่งแวดล้อม ยินดีน้อมรับฟังข้อคิดเห็นชุมชน อ.แม่เมาะ

การทำเหมืองใต้ดินจำกัดพื้นที่อยู่ภายในอุโมงค์ลึก การฟุ้งกระจายของฝุ่นและเสียงแทบไม่ออกนอกอุโมงค์และโดยหลักการเลือกเจาะเอาเฉพาะถ่านหินออกมาเท่านั้น โดยมีดินหรือสิ่งปนเปื้อนออกเท่าที่จำเป็นเท่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ทิ้งมูลดินทราย ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้ดีกว่าการทำเหมืองเปิดหน้าดิน หากผลสำรวจและศึกษาทำเหมืองใต้ดินเกิดขึ้นได้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงเพราะถ่านหินมีต้นทุนถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวม ตลอดจนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่ง กฟผ.แม่เมาะ ให้ความสำคัญมาอย่างยาวนานเพื่อขับเคลื่อน อ.แม่เมาะ ให้เป็น “เมืองน่าอยู่” อย่างยั่งยืน “

กฟผ.แม่เมาะ มุ่งมั่นให้ชุมชนตลอดจนทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในระหว่างการดำเนินการสำรวจและศึกษาการทำเหมืองใต้ดินบริเวณกลางแอ่งแม่เมาะจะให้ข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าเป็นระยะๆ และยินดีรับฟังคำแนะนำ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทุกช่องทาง” พี่ช้างกล่าวย้ำวิสัยทัศน์ กฟผ.

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย