1

ความตั้งใจของผู้คนในชุมชน ที่จะมีแหล่งรวบรวมความรู้และเรื่องราวของพ่ออุ้ย แม่อุ้ย ในยุคสมัยอดีตกว่า 100 ปี ผ่านสิ่งของโบราณที่ถูกส่งต่อแก่ลูกหลาน หากสิ่งนั้นอยู่เพียงห้วงความคิด ไม่ได้ถูกส่งต่อหรือบันทึกไว้ก็พร้อมจะเลือนหายไปตามกาลเวลา คนในยุคปัจจุบันก็จะลืมเลือนรากเหง้าของวิถีถิ่น พระคณิศร ฐานิสสโร (เรือนแก้ว) พระสงฆ์วัดสบป้าด เป็นผู้ที่มีเจตจำนงริเริ่มพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสบป้าดขึ้นมา เพื่อไม่ให้วิถีในอดีตถูกลืมเลือนหายไป

กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนได้มีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสบป้าดอย่างเป็นทางการ โดยมีพระมหานพดล สุวณณเมธี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง พร้อมด้วยชุมชนและหลายภาคส่วนเข้าร่วมงาน โดยพระคณิศร เล่าว่า การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสบป้าด เป็นสิ่งที่อยากทำมานานเพื่อรวบรวมของเก่าที่ได้รับการตกทอดมาจากบรรพบุรุษของผู้คนในชุมชนมารวบรวมไว้ เพื่อไม่ให้สิ่งของและเรื่องราวความเป็นมาหายไปไหน ประกอบกับได้เรียนศึกษาต่อเป็นพระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง มีโอกาสเปิดโลกทัศน์หลายๆด้าน ได้พบเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะนำกลับมาพัฒนาวัดและชุมชนจนเกิดความร่วมมือในการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ร่วมกัน นอกเหนือจากเป็นแหล่งรวบรวมของเก่าและเรื่องราวชุมชนในอีดตแล้วจะดำเนินการต่อยอดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่งของ อ.แม่เมาะ

4

2

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสบป้าดมีของเก่ากว่า 100 ชิ้น ที่เป็นของสืบทอดจากต้นตระกูลของ พระคณิศร และ ผู้คนในชุมชนนำมาถวาย อาทิ อาวุธสมัยโบราณ มีดหมอ มีดงาช้าง หัวขวาน อ่างข้าว เครื่องมือช่าง ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ของครูบาอินก๋วน อดีตเจ้าอาสวัดสบป้าด พระเกจิชื่อดังอันเป็นที่เคารพของศิษยานุศิษย์ทั้งจังหวัดลำปางและผู้คนทั่วไป โดยข้าวของเครื่องใช้จะระบุชื่อผู้รับบริจาค และขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของวัดสบป้าด

3

ของเก่าอีกหนึ่งชิ้นที่มีประวัติและเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนานของชุมชนสบป้าดที่ยังยึดและปฏิบัติใช้จนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ “พิธีแห่ปลาช่อนขอฝน” ที่มีมาแต่สมัยอดีต โดยทุกเดือนเมษายนของทุกปี จะนำไม้แกะสลักที่มีลวดลายเป็นปลาช่อนมาแห่ขอฝนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้คนในชุมชนให้ฝนตกมีน้ำพอกิน พอใช้ พอเพาะปลูก ตามความเชื่อเชื่อว่าปลาช่อนเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มเย็นของสายฝน ซึ่งในบทสวดทางล้านนาจะมีคาถา 48 บท คาถาปลาช่อนเป็นหนึ่งบทสวดที่อำนวยอวยพรชัยให้เกิดความชุ่มเย็นเป็นสุข ไม่รู้ได้ว่าพิธีนี้มีมาแต่สมัยไหน แต่พ่ออุ้ย แม่อุ้ยในชุมชนสบป้าดที่อายุกว่า 80 ปี ตั้งแต่จำความได้ก็พบเจอพิธีกรรมนี้มาแต่เด็ก และพิธีนี้มีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

6

 พระคณิศร ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสบป้าด เกิดจากความร่วมมือของทุกๆคนในชุมชน ซึ่งยังต้องพัฒนาและปรับปรุงต่อยอดในหลายๆด้าน เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่าที่ได้รับมาตรฐานเป็นแหล่งความรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจต่อไป

จัดทำโดย : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย