Print

18 ปีที่รอคอย! บุญมา อุ่นเรือน มุ่งมั่นเพื่อชุมชน จนเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ลำดับ 45 ของ อ.แม่เมาะ

ความพยายามไม่เคยทรยศความสำเร็จ เป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นได้เป็นอย่างดีของ นายบุญมา อุ่นเรือน หรือ ผู้ใหญ่คล้ายวัย 58 ปี ที่ไม่ย่อท้อและต่อสู้เพื่อชุมชนมายาวนานกว่า 18 ปี ขับเคลื่อนร่วมกับตัวแทนชุมชนจนได้รับประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านลำดับ 45 ของ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ได้ตามเจตนารมณ์ โดยตั้งชื่อเป็น “หมู่บ้านหาดประชาสามัคคี” หมู่ที่ 8 ต.จางเหนือ ห่างจาก อ.แม่เมาะ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 42 กิโลเมตร

DSC 1383

ประวัติความเป็นมา กว่าจะได้ประกาศเป็นหมู่บ้านแห่งใหม่ อ.แม่เมาะ

เป็นเรื่องที่น่ายินดีและความภาคภูมิใจกับชุมชนบ้านหาดประชาสามัคคีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กว่าจะเป็นบ้านหาดประชาสามัคคีเช่นปัจจุบันผู้ใหญ่คล้ายอู้จ๋าว่า ประวัติความเป็นมาไม่มีบันทึกไว้แน่นอน แต่ชุมชนน่าจะเกิดขึ้นมาหลายชั่วอายุคนตามการเล่าขานสืบต่อกันมา เดิมชื่อบ้านหาดซึ่งชาวบ้านได้แยกจากบ้านนาแช่มาตั้งรกรากสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่ห่างบ้านนาแช่ 14 กิโลเมตร เพื่อทำไร่ ทำสวนเพราะมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ช่วยให้ทำการเกษตรได้ดี รวมทั้งคนสมัยก่อนมีความเชื่อว่าที่ไหนอุดมสมบูรณ์ก็มักไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นเพื่อความอยู่รอดและตั้งรกรากมายาวนานจนถึงปัจจุบัน สำหรับแนวคิดที่ไม่ใช้ชื่อชุมชนเดิมแต่ตั้งชื่อใหม่เป็น “หมู่บ้านหาดประชาสามัคคี” นั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งน้ำเดียวกันของคนในชุมชนที่รักใคร่กลมเกลียวและให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมสำคัญของหน่วยราชการต่างๆ ร่วมกับชุมชนนาแช่และชุมชนใกล้เคียงด้วยดีเสมอมากว่า 18 ปี ถึงแม้จะมีความทุลักทุเลและความลำบากในการเดินทางจากหมู่บ้าน 14 กิโลเมตรเพราะถนนเป็นลูกรังจนเดินทางไม่สะดวกก็ตาม

18 ปีที่รอคอย ทำความรู้จักผู้ใหญ่คล้าย ผู้นำขับเคลื่อนจนเกิดหมู่บ้านแห่งใหม่

ผู้ใหญ่คล้ายได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 โดยนายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะลงนามให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านหาดประชาสามัคคีจบการศึกษาระดับมัธยมต้นจากจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีใจรักและจิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนมาต่อเนื่องจนเกิดการยอมรับ ไว้วางใจและสนับสนุนจากชาวบ้านให้เป็นผู้แทนชุมชน เป็นสมาชิก อบต.จางเหนือหนึ่งวาระ และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนึ่งวาระ มีผลงานร่วมขับเคลื่อนร่วมกับผู้แทนชุมชนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนหลายด้าน เช่น พ.ศ. 2531 อนุรักษ์ป่าด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ให้เป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงคนในชุมชุนโดยทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าและสร้างฝายชะลอน้ำให้ผืนป่ามีความชุ่มชื้นตลอดปี สร้างระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ มีกุ้ง หอย ปู ปลา มีผักหนาม ผักกูดมีของป่าที่ชาวบ้านสามารถนำมาเป็นอาหารได้ ตลอดจนอนุรักษ์เป็นป่าต้นน้ำและต้นแบบป่าชุมชนของ อ.แม่เมาะจนถึงปัจจุบัน และ พ.ศ. 2534 ก่อสร้างระบบประปาภูเขาโดยนำเอาไม้ไผ่มาทำรางรินยาวประมาณ 2 กิโลเมตรต่อน้ำจากภูเขามาใช้ในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่คล้ายจึงพยายามขอแต่งตั้งเป็นหมู่บ้านหลายครั้งแต่ไม่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งหมู่บ้านที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ กระทั่ง พ.ศ.2548 จึงนำเรื่องการขอตั้งเป็นหมู่บ้านผ่านสภาตามกระบวนการอีกครั้งและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับประกาศเป็นหมู่บ้านแห่งใหม่ได้สำเร็จ ผู้ใหญ่คล้ายกล่าวความรู้สึกว่า “ผมและชาวบ้านดีใจกันมาก เพราะอยู่กันอย่างทุลักทุเลและด้อยโอกาสพัฒนามา 18 ปี เวลาชาวบ้านมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่บ้านนาแช่ก็ต้องนั่งรถออกมา 14 กิโลเมตร ลำบากเพราะถนนเป็นทางลูกรังยาวเกือบ 3 กิโลเมตร เป็นหลุมบ่อ แฉะในหน้าฝน หน้าแล้งก็ฝุ่นเยอะ จากนี้จะได้รับโอกาสพลิกฟื้นพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่าทันชุมชนอื่นใน อ.แม่เมาะ”

เป้าหมายพัฒนาเพื่อชาวบ้านกินดีอยู่สุข ก่อนหมดวาระผู้ใหญ่บ้านอีก 2 ปี

สำหรับแผนพัฒนาในอนาคตคือสานต่องานที่ดำเนินการอยู่ให้สำเร็จต่อไป เช่น น้ำดื่มระบบประปาภูเขาที่สร้างโดยภูมิปัญญาและแรงงานของคนในชุมชนบ้านหาดประชาสามัคคี ผู้ใหญ่คล้ายจะดำเนินการต่อยอดโดยสร้างแหล่งกักเก็บน้ำถาวรของชุมชนไว้ใช้ในฤดูแล้ง ป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำและมีน้ำใช้กรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ รวมถึงพัฒนาถนนให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี เดินทางสะดวกโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต้องไปโรงเรียนโดยจะดำเนินการตามหลักการจัดทำถนนในพื้นที่ป่าสงวนให้สำเร็จ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และการปฏิบัติงานด้านการปกครองท้องถิ่นแก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้งสองเพื่อสานต่อเจตนารมณ์เพื่องชุมชมบ้านหาดประชาสามัคคีเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันบ้านหาดประชาสามัคคีมีจำนวน 45 ครัวเรือน ประชากรรวม 150 คน แยกเป็นชาย 68 คน หญิง 82 คน ชุมชนยึดอาชีพทำไร่ข้าวโพด ทำนา และบางครัวเรือนมีอุตสาหกรรมครัวเรือนแปรรูปไม้ไผ่เป็นตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น และไม้จิ้มฟัน เบื้องหลังความสำเร็จจนได้รับประกาศเป็นหมู่บ้านแห่งใหม่ลำดับที่ 45 ของ อ.แม่เมาะ ผู้ใหญ่คล้ายเน้นย้ำ เกิดจากการร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจและความเข้มแข็งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนบ้านหาดประชาสามัคคีที่ไม่ยอมแพ้และต่อสู้ขับเคลื่อนมาด้วยกันจนถึงวันนี้ พร้อมฝากแนวคิดการเป็นผู้นำชุมชนที่ต้องทำงานร่วมกับคนหมู่มากว่า

 “ผลของความตั้งใจมุ่งมั่น สร้างความสำเร็จได้จริงๆ ผู้นำที่ดีต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นที่ปรึกษาของคนในชุมชน รับฟังและช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา มีความกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าตัดสินใจเด็ดขาดอย่างยุติธรรม รวมถึงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างความเชื่อมั่นให้คนในชุมชนรักใคร่สามัคคีนำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างจริงใจเกิดการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน”